น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมเนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มี.ค.ของทุกปี ซึ่งในปีนี้เน้นในหัวข้อ ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้ ว่า เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการป้องกันปัญหาและการยอมรับผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรมให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ทั้งนี้กลุ่มอาการดาวน์เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่มียารักษา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 และกว่าร้อยละ80 เกิดจากแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนไทยมีเด็กที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 800-1,000 คนจากหญิงคลอดที่มีปีละประมาณ 8 แสนคน ลักษณะเฉพาะของเด็กกลุ่มนี้มี 4 ประการ คือ 1.เชาวน์ปัญญาต่ำ ทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พูดช้า 2.ตัวอ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหย่อน 3.มีโครงสร้างทางใบหน้าที่ชัดเจน เช่น หน้าแบน หัวเล็ก ตัวเตี้ยกว่าคนในวัยเดียวกัน เป็นต้น และ 4.มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่กำเนิดเช่น ผนังหัวใจผิดปกติ มีปัญหาการมองเห็น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วและเหมาะสมจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและซับซ้อน แต่หากดูแลแต่เนิ่นๆจะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น
“หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีความเสี่ยงให้กำเนิดลูกอาการดาวน์ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่แท้งลูกบ่อยๆโดยไม่ทราบสาเหตุ และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ขณะที่มีอายุมาก กล่าวคืออายุ 40 ปี จะมีอัตราเสี่ยง 1 ต่อ 100 หากอายุ 45 ปีขึ้นไป อัตราความเสี่ยงมากถึง 1 ต่อ 25” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.