ย้อนไปเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มอนาคตรุ่งมีนามว่า สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง Stephen Hawking นักศึกษา ม.เคมบริดจ์ ในวัย 21 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neurone Disease) จนทำให้เขามีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ (Amyotrophic Lateral Sclerosis : ALS) และผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ มักจะเสียชีวิตหลังจากได้รับการวินิจฉัยเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

แต่ไม่น่าเชื่อว่า แม้สตีเฟนจะเป็นอัมพาตเกือบทั่วร่างกาย และต้องใช้วีลแชร์ไปตลอดชีวิต เขาก็ยังยืนหยัดที่จะต่อสู้กับโรคร้ายที่ไม่มีวันรักษาหาย ไปพร้อมๆ กับการคิดค้นผลงานทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างมากมาย จนได้รับยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชื่อดังที่สุดแห่งยุค

จนในที่สุด สตีเฟน กลับมีชีวิตยืนยาวกว่าที่หมอที่รักษาเขาจะคาดคิดเสียอีก แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่สามารถหนีจุดจบของโรคนี้ได้ โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 61 ที่ผ่านมา ว่า บุรุษผู้เป็นอัจฉริยะแห่งยุครายนี้ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักใกล้กับ ม.เคมบริดจ์ ในวัย 76 ปี

รายงานพิเศษวันนี้ ยังคงอยู่ในความอาลัยต่อการจากไปของ “สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงใช้โอกาสนี้พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโรคเซลล์ประสาทสั่งการ หรือที่รู้จักกันว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีสาเหตุเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน รักษาหายได้หรือไม่ รวมทั้งวิธีป้องกันดูแลร่างกายของตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว โดยผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องนี้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย นั่นก็คือ ศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร

...

รู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS

โรคเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis : ALS) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neurone Disease) ส่วนคำว่า “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” เป็นอาการของโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อตามแขนและขาค่อยๆ อ่อนแรงลง ไม่ใช่ชื่อจำเพาะ

ทั้งนี้ โรคเอแอลเอส มีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น เป็นโรคกล้ามเนื้อเส้น โรคเส้นประสาทอักเสบ ก็ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด

แขนขาอ่อนแรง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด! ส่องอาการโรค ALS

ศ.นพ.ก้องเกียรติ อธิบายถึงอาการของโรคเอแอลเอส ว่า จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะค่อยๆ ลามไปยังแขนขาที่อยู่ใกล้เคียงกันหรืออยู่คนละข้าง ก่อนลามไป ทั้ง 2 ข้าง ในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการกลืนลำบาก พูดไม่ชัด ทำให้เกิดการสำลัก ติดเชื้อกลายเป็นปอดอักเสบ ถ้าเกิดกลืนไม่ได้ กล้ามเนื้อก็จะฟ่อลง ทำให้เกิดทุพโภชนาการ หรือภาวะซึ่งเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารไม่สมดุลกัน โดยอาจมีสารอาหารบางอย่างได้รับไม่เพียงพอ เกิน หรือผิดสัดส่วน ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น ติดเชื้อในปอด หายใจไม่ได้ กลืนลำบาก สำลัก จนทำให้เสียชีวิตได้

“วิธีสังเกตเบื้องต้นนั้น ร่างกายจะมีอาการอ่อนแรงของแขน หรือขา ข้างใด ข้างหนึ่งค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คิดว่าไม่ปกติแล้ว และต้องไปหาสาเหตุว่าเป็นโรคอื่นหรือไม่ หรือเป็นโรคเอแอลเอส เพราะอาการของโรคในช่วงแรกจะไม่ค่อยจำเพาะเจาะจงเท่าไหร่ครับ”

...

1 ใน 100,000 คนไทยหลายร้อยป่วย ALS

คนไทยที่ป่วยโรคเอแอลเอส จะเจอผู้ป่วย 1 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคนี้หลายร้อยคน

นอกจากนี้ โรคเอแอลเอสส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยจะเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมักจะมีชีวิตไม่ยืนยาว ประมาณ 5 ปี อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นในระยะท้ายๆ จะทำให้ยิ่งหายใจลำบากมากขึ้น ผู้ป่วยจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ใช้ยาชะลอโรค ยืดอายุผู้ป่วย รักษาตามอาการ

นอกจากการให้ยารักษาประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยแล้วนั้น ยังมียา Riluzole ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งสารกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง สามารถช่วยชะลอโรค ยืดอายุของผู้ป่วยได้จำนวนหนึ่ง

“ส่วนใหญ่กว่าที่จะวินิจฉัยได้ก็มักจะเจอในระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว หลังจากที่ผู้ป่วยค่อยๆ เป็น หรือบางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่าเป็น อีกทั้ง โรคนี้จะวินิจฉัยยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พอสมควร โดยแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยาที่มีประสบการณ์ จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้า”

...

ผู้ป่วยสุดโชคร้าย โรค ALS ไม่มีทางรักษาหาย

ความหวังของผู้ป่วยโรคเอแอลเอสในการที่จะรักษาให้หายขาดต้องหมดลง เนื่องจากโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ เพราะเป็นโรคความเสื่อมของเซลล์ประสาท มีเพียงแต่การให้ยาเพื่อชะลอโรคให้เซลล์เสื่อมช้าลง แต่ในที่สุดแล้วผู้ป่วยทุกคนก็จะเข้าไปสู่ทางเดียวกัน ก็คือ เคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ กลืนลำบาก จนเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ ยังไม่เคยเห็นใครรอดชีวิตจากโรค ALS ซึ่งสุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

“ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอแอลเอสมักจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อ แผลกดทับ หายใจไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตครับ เพราะอาการป่วยจะค่อยๆ ทรุดลงไปเรื่อยๆ”

ไขทางรอดไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรค ALS

มีวิธีใดบ้างที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้? เป็นคำถามที่หลายคนอยากจะรู้ เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคร้าย

...

ศ.นพ.ก้องเกียรติ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่มีครับ” พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า “โรคนี้มันทำนายไม่ได้ครับว่าจะเป็นหรือไม่ ยกเว้นว่า ในผู้ป่วยบางรายมีครอบครัวที่มียีนผิดปกติ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเอแอลเอสสูงขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจัยทางครอบครัว หรือ ปัจจัยทางยีน อาจจะเจอประมาณ 5% จากผู้ป่วยทั้งหมด ส่วน 95% ที่เหลือนั้น ไม่ทราบสาเหตุ เป็นความเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการที่เกิดขึ้นมาเอง”

แต่อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวเป็นโรคเอแอลเอสก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทุกราย

นอกจากนี้ สำหรับโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ หากผู้ป่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรง มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ดี ก็จะทำให้ความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ลดลงไปด้วย ซึ่งก็จะช่วยป้องกันทั้งโรคสมองเสื่อม เซลล์ประสาทสั่งการ รวมทั้งโรคอื่นๆ ร่วมด้วย

แต่ที่ผ่านมามีนักกีฬาที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน ทั้ง นักเบสบอล นักฟุตบอล หรือแม้กระทั่งนักมวยอย่าง พเยาว์ พูลธรัตน์ นักชกเหรียญรางวัลโอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเอแอลเอส ในวัย 49 ปี

สำหรับกรณีของสตีเฟน ฮอว์กกิ้ง นั้น ที่มีอายุอยู่ได้ถึง 55 ปีนั้น เป็นเพราะว่า เขามีอาการตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นหนุ่ม และตัวโรคที่เป็นลุกลามช้า ซึ่งพบได้น้อยมาก รวมทั้ง เขาได้รับการดูแลประคับประคองที่ดี มีเครื่องช่วยหายใจ ได้รับการให้อาหารอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ดี จึงทำให้มีอายุได้ยืนกว่าผู้ป่วยโรคนี้โดยทั่วไป ซึ่งหลักๆ คงจะเป็นตัวโรคของเขาที่อาจจะโชคดีเป็นชนิดที่ทำให้เสียชีวิตช้าลง

“แต่อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ เพราะว่าโรคเอแอลเอสพบได้ไม่มาก แต่หากประชาชนสงสัยว่ามีอาการอ่อนแรงค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา การพูด หรือการกลืน จนมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือเริ่มมีความผิดปกติแล้ว แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะว่าสาเหตุมีค่อนข้างหลากหลาย ต้องไปหาสาเหตุอื่นๆ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้” ศ.นพ.ก้องเกียรติ ฝากทิ้งท้าย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน