โครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ มูลค่ามหาศาลโอฬาริก 12,280 ล้านบาท

เริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2556 กำหนดระยะเวลา 900 วันเสร็จ

เมื่อครบกำหนดสัญญา 900 วันเสร็จ ปรากฏว่ายังสร้างไม่เสร็จ จึงมีการขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 1 เพิ่มอีก 387 วัน รวมเป็น 1,287 วันเสร็จ

แต่เมื่อครบกำหนด 1,287 วันเสร็จ รัฐสภาแห่งใหม่ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

จึงมีการเกี้ยเซียะขยายสัญญาครั้งที่ 2 เพิ่มอีก 421 วัน รวมเป็น 1,708 วันเสร็จ

ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดขยายสัญญาก่อสร้าง 1,708 วันเสร็จ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

ล่าสุดจึงมีการกล้อมแกล้มขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 3 เพิ่มขึ้นอีก 689 วัน รวมเป็น 2,397 วันเสร็จ

สรุปว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ล่าช้าเกินกำหนดสัญญา 900 วัน ไปถึง 1,497 วัน

หรือต้องขยายเวลาเพิ่มไปอีก 4 ปีเศษ

คาดว่ารัฐสภาแห่งใหม่จะสร้างเสร็จพร้อมต้อนรับประชาธิปไตยครึ่งใบในเดือนธันวาคม 2562 โน่นแหละ

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า ตามเงื่อนไขสัญญาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ กำหนดว่าถ้าหากการก่อสร้างเสร็จล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดบริษัทเอกชนจะต้องจ่ายค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท

ถ้านับเวลาที่เกินสัญญารวมทั้งสิ้น 1,497 วัน บริษัทเอกชนผู้ประมูลโครงการนี้จะต้องเสียค่าปรับรวมทั้งสิ้น 17,964 ล้านบาท

ถ้าหักปัญหาการส่งมอบที่ดินบางส่วนล่าช้าไป 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเอกชนยังต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินอีก 8,972 ล้านบาท

ดังนั้น การเจรจาสมยอมขยายสัญญาก่อสร้างถึง 3 ครั้งซ้อนๆ เพื่อให้เอกชนผู้รับเหมาไม่ต้องจ่ายค่าปรับ

จะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนหรือไม่??

และทำให้ราชการเสียประโยชน์หรือเปล่า

“แม่ลูกจันทร์” ตั้งคำถามไว้เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ

...

ยัง...ยังไม่จบ โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ยังมี “เรื่องน่าแปลกใจ” ให้อึ้งกิมกี่ตามมาอีก

มีการขออนุมัติงบเร่งด่วนจาก “รัฐบาลนายกฯบิ๊กตู่” อีก 8,658 ล้านบาท เพื่อลงทุนวางระบบสาธารณูปโภคและติดตั้งระบบไอทีเพิ่มขึ้นอีกก้อนหนึ่ง

ประเด็นอยู่ที่งบระบบสาธารณูปโภค และระบบไอทีในรัฐสภาใหม่ได้กำหนดวงเงินไว้ 3,000 ล้านบาท

เหตุใดจึงบานทะโร่ไปถึง 8,658 ล้านบาท??

โดยเฉพาะงบติดตั้งระบบไอทีที่บวมอะหลึ่งฉึ่งไปถึง 6,948 ล้านบาท

ถามว่า ระบบไอทีที่ใช้ในการประชุมสภาฯจำเป็นต้องแพงหูฉี่ขนาดนี้หรือไม่??

ขอตั้งคำถามไว้เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ

อย่างไรก็ดี กรณีนี้ทำให้ “แม่ลูกจันทร์” ย้อนคิดถึงโครงการจัดซื้อนาฬิกาดิจิทัลในรัฐสภา 200 เครื่อง ราคาแพงหูฉี่ เครื่องละ 7.5 หมื่นบาท

ทำให้ย้อนคิดถึงโครงการจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม. 193 ตัว ราคาแพงหูฉี่ ตัวละ 1.45 แสนบาท

และทำให้ย้อนคิดถึงโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 849 ตัว ราคาตัวละ 6.75 แสนบาท

ถ้าจะอ้างว่าของคุณภาพดี ราคาต้องแพง...มันก็จริงอยู่

แต่จำเป็นหรือไม่? ที่จะถลุงเงินภาษีประชาชนไปจัดซื้ออะไรๆที่แพงเว่อร์เกินกว่าเหตุ??

เหมือนเดิม ตั้งคำถามไว้เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ

“แม่ลูกจันทร์”