เพรียงทราย (Sand worm) สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มไส้เดือนทะเล (Polychaete) เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ อาศัยอยู่บริเวณชายหาดน้ำปริ่มๆ หรือน้ำครึ่งหาด อาศัยฝังตัวใต้พื้นทราย กินซากพืชและซากสัตว์เป็นอาหาร ทำหน้าที่เหมือนผู้รักษาสิ่งแวดล้อมคอยกำจัดขยะตามชายหาด
เพรียงทรายแพร่กระจายบริเวณที่มีลักษณะเป็นดินทราย ทรายหยาบ ทรายเปลือกหอย อาจพบตามบริเวณป่าชายเลน ใต้โขดหิน ซากปะการัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเพรียงทราย มีทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
เพรียงทรายเป็นอาหารสดมีชีวิตที่ผู้ประกอบการผลิตลูกกุ้งทะเลนิยมนำมาเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงทั้งโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ จำเป็นต่อการพัฒนารังไข่ของกุ้งทะเลสูง
แม่พันธุ์กุ้งทะเลที่ได้กินเพรียงทรายจะให้ไข่ดก มีคุณภาพดี อัตราการรอดสูง รวมถึงยังใช้เป็นอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ปลาทะเล และปูทะเลด้วย
เมื่อสี่ปีที่แล้ว น้อยคนที่จะรู้จักเพรียงทราย มีแต่คนในวงการโรงเพาะฟักรู้จักดี คำบอกเล่าของสุรชัย ธรรมคุณ หรือต้น เจ้าของฟาร์มเลี้ยงเพรียงทราย เลขที่ 110 หมู่ 5 ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ต้นอายุ 35 ปี จบประมงรุ่นแรก จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร ก่อนหน้าทำงานอยู่โรงเพาะฟักพ่อแม่พันธุ์ลูกกุ้งระยะแรกที่ภูเก็ตราว 4 ปี
วันหนึ่งใน 10 เดือน ที่มีโอกาสไปทำงานเกี่ยวกับโรงเพาะฟักที่อินเดีย เงินเก็บที่มีเอาไปสร้างบ้านจนหมด ไม่มีเหลือไว้ลงทุน ต้นเข้าไปคุยกับหัวหน้าชาวอินเดียขอเงินลงทุน หัวหน้าใจดีให้มาหนึ่งล้านบาท
ต้นตั้งใจจะเลี้ยงเพรียงทราย เพราะเห็นช่องทางตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าใช้ทุนต่ำ แต่ขายได้ในราคาที่สูงมาก และยังเป็นที่ต้องการของตลาด
กลับจากอินเดีย ต้นระดมทุนกับพี่ๆน้องๆของแฟน ลงมือสร้างโรงเรือน ขั้นตอนไม่มีอะไรมาก เพราะเคยทำโรงเพาะฟักมาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือความสะอาด
...
ต้นสร้างบ่อขึ้นมา 66 บ่อ ดูดน้ำจากทะเลมาทรีสคลอรีน คือการฆ่าเชื้อโดยใช้คลอรีน ทำให้น้ำสะอาดที่สุด แล้วเอามาเก็บที่บ่อสต๊อก พร้อมใช้ในระบบ
ต้นขับรถไปซื้อพันธุ์เพรียงจากกรมประมงที่ภูเก็ต เอาเพรียงใส่กระบะที่มีทราย ราคากระบะละ 1,000 บาท ขนกลับมา 10 กระบะ
“ตอนเริ่มเลี้ยงครั้งแรกก็ยังงง” ต้นว่า “สุดท้ายกลับสู่วิธีธรรมชาติ หลักวิชาการก็ควรเอามาประยุกต์ควบคู่กัน เหมือนนักรบจีนที่มีทั้งบู๊และบุ๋น ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ วิทยาศาสตร์ก็ต้องมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ใช้ศิลป์”
ต้นบอกว่า ลักษณะตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ส่วนหัวจะมีสีขาวขุ่น ตัวเมียส่วนหัวจะมีสีเขียวสะท้อน เมื่อก่อนเคยได้ยิน ตัวผู้หนึ่งตัวต่อตัวเมียสามตัว แต่สุดท้ายไม่ต้องนับเอามาคละกันให้หมด แยกออกมาใส่กะละมังผสมพันธุ์ ดูความเข้มข้นของน้ำเชื้อ ถ้าหนืดเกินจะไม่ค่อยฟัก
เวลาผสมพันธุ์ตัวผู้และตัวเมียจะว่ายวนรอบตัวพร้อมทั้งสลัดตัวให้ฉีกขาด เพื่อปล่อยน้ำเชื้อและไข่ออกมาผสมกันในน้ำ ใช้เวลา 10-30 นาที
ต้นยังเพาะพันธุ์เองไม่ได้ ต้องให้พ่อเป็นคนดูแล เพราะมีประสบการณ์จากการเลี้ยงกุ้งมาก่อน ต้นมีแต่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จะคอยบอกพ่อ ส่วนพ่อมีศิลปะที่จะคอยสังเกต
กระบวนการเลี้ยง เอาลูกพันธุ์ที่เพาะฟักออกมาแล้วอนุบาลไว้ก่อน ที่ฟาร์มจะอนุบาลรอบเร็วประมาณ 15-20 วัน แล้วเอาลงไว้ในกระบะ แต่ถ้าให้ดีต้องอนุบาล 45-60 วัน
จากนั้นเอามาลงบ่อทราย ทรายที่ใช้เป็นทรายก่อสร้าง เหตุที่ไม่ใช้ทรายทะเล เพราะไม่ถูกต้อง ถ้าเอาน้อยๆก็ไม่เป็นไร แต่ที่นี่ต้องใช้ทรายเยอะมาก
เพรียงกินอาหารกุ้งกุลาผสมกับสาหร่ายสไปรูลินา เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เวลาให้อาหารตอนไหนก็ได้ วันละหนึ่งครั้ง เลี้ยงไปอีกห้าเดือน จึงจะจับขาย
ต้นบอกว่า ผลผลิตที่ได้ ตอนแรกคิดว่าจะเอาไปขายที่ตลาดปลาสวยงามที่จตุจักร เดินเข้าไปถาม 7 ร้าน ไม่มีใครรู้จักเพรียงทรายเลยสักคน
แต่ถ้าในสายโรงเพาะฟัก เขาจะรู้จัก เพราะใช้เป็นอาหารให้พ่อแม่พันธุ์กุ้ง
เจ้าแรกที่สั่งคือบริษัทกุ้งที่สงขลา ต้นส่งตัวอย่างไปให้ดู พอได้เจ้าแรก เจ้าต่อๆไปก็มาเอง
“เราส่งไม่เยอะมีแค่ 12 เจ้า จริงๆมีมากกว่านี้” ต้นว่า “ก่อนอื่นเราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่ามีของส่งตลอด กำลังการผลิตวันละ 130 กิโล แต่ที่ขายวันละ 60-70 กิโล เผื่อมีอะไรติดขัด เรามีป้อนให้ทุกวัน เพราะฟาร์มลูกกุ้งไม่มีวันหยุด กุ้งต้องกินทุกวัน”
โรงเลี้ยงเพรียงที่หาได้มีน้อยฟาร์มที่จะเลี้ยงแบบเป็นรูปเป็นร่าง ในวงการกุ้ง มีคนเลี้ยงเพรียงอยู่ 2 เจ้า หรือ 2 ต. คือพี่ตุ้มกับต้น และกล้าพูดได้เต็มปากว่าขายถูกที่สุดในประเทศไทย ขายกิโลละ 600 บาท
“ราคาที่ตั้งไว้ ผมคิดถึงใจเขาใจเรา ผมทำผมรู้ต้นทุนการผลิตไม่ได้เอากำไรเกินควร อีกอย่างเอาที่ขายง่าย โดยไม่ต้องแข่งกับใคร คิดง่ายๆไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน ใครๆก็วิ่งมาหา โดยที่เราไม่ต้องวิ่งไปหาลูกค้ามาก”
ต้นบอกว่า มีคนให้สอนการเลี้ยงเพรียงทรายเยอะมาก เคยคิดจะเก็บค่าสอนเหมือนกัน แต่ก็มานึกถึงวันที่ไปทำงานที่อินเดีย ฟาร์มนั้นมีนักวิชาการอยู่สองคนคือต้นกับคนเม็กซิโกที่ไม่สอนอะไรเลย
แต่ต้นเป็นคนชอบเปิด ใครอยากรู้อะไรสอนให้ทุกอย่าง และคิดถึงวันที่ไปขอเงินหัวหน้าชาวอินเดีย ที่ให้มาแบบไม่คิดอะไร
ดังนั้น หากใครอยากเข้ามาขอความรู้ ยินดีสอนทุกอย่าง และถ้าเข้ามาที่ฟาร์มแล้ว บอกเลยไม่ต้องหาวิชาการ พูดสอนกันแบบลูกทุ่ง วิชาการอยู่ในคำพูดแล้ว
แต่คนที่มาดูงานไปแล้ว ก็ไม่เห็นมีใครเอาไปทำจริงๆ คนที่บอกว่าง่ายก็ไม่เริ่ม แต่คนที่ว่ายาก ตอนนี้เริ่มทำไป 1 เจ้า ต้นก็คอยสนับสนุนอยู่ คิดในใจ วันหนึ่งที่เขาก้าวหน้า อาจจะต้องพึ่งพิงเขาบ้าง
...
ต้นบอกว่า การเลี้ยงเพรียงไม่จำเป็นต้องจบประมงเสมอไป ใครก็ได้ที่มีความใส่ใจ ตั้งใจจริงเชื่อว่าทำได้ และคนที่จะทำตรงนี้ ถ้าใส่แต่เงิน เจ๊งแน่นอน
ถามว่าการเลี้ยงเพรียงจำเป็นต้องเลี้ยงริมทะเลหรือไม่
ต้นบอกว่า ถ้าคนไม่มีความรู้เรื่องประมงก็จำเป็น แต่สำหรับต้นต่อให้เลี้ยงริมคลองก็เลี้ยงได้ เพราะรู้เรื่องการเลี้ยงเพรียงอยู่แล้ว ถ้าจะเลี้ยงจริงๆ แค่น้ำมีความเค็มก็เลี้ยงได้ แต่ถ้าให้ดีเลี้ยงจากน้ำธรรมชาติหรือน้ำทะเลจะดีกว่า
สำหรับตัวพ่อแม่เพรียงที่ผสมพันธุ์เสร็จก็สละชีวิต แต่บางทียังไม่ทันตาย เราก็เอาไปฟรีซไว้ก่อน เสร็จแล้วเอามาตากแห้ง เพื่อเอามาทำเป็นยา เพรียงมีโปรตีนสูง แต่ยังไม่ได้ขาย ตั้งใจจะไปคุยกับนักธุรกิจที่มีทัวร์จีน เพราะคนจีนจะชอบเรื่องพวกนี้
ต้นบอกว่า ก่อนหน้าคนทำงานก่อสร้างเอาเพรียงไปดองเหล้าแล้วกิน
3 คนพูดพร้อมกันว่าปึ๋งปั๋ง
ต้นเคยลองกิน รสชาติคาวมาก ขนาดบ้วนปากความคาวยังติดอยู่ แต่ลองเอาไปตากแห้ง กินแล้วรสชาติเหมือนสาหร่ายแผ่น ตั้งใจเปลี่ยนมาบดใส่แคปซูล น่าจะกินง่ายกว่า
พ่อของต้นบอกว่า กินแล้วทำให้มีเรี่ยวมีแรง ต้นว่าอาจคิดไปเอง ส่วนตัวคิดว่าเพรียงทรายเป็นธรรมชาติ คงไม่มีผลเสียอะไร
วันนี้ต้นมีบ่อเลี้ยงเพรียง 400 บ่อ ต้นตั้งใจจะทำไปเรื่อยๆตราบใดที่คนยังไม่หยุดกินกุ้ง
ความจริงต้นมีทางเลือกยาวไกลยิ่งใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ มีคนทั้งไทยและต่างชาติพร้อมที่จะสนับสนุนลงทุนให้ 10 ล้าน แต่ต้นว่าพอใจแค่ตรงนี้ดีกว่า.