คกก. สอบ 2 บิ๊ก พม. นัดถกสัปดาห์หน้า “สุภัชชา” ไม่หนักใจสอบผู้บังคับบัญชาว่าตามหลักการ เอ็นจีโอชี้เป็นจิตสำนึกคนโกงมากกว่าระบบเอื้อ ...
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นางไพรวรรณ พลวัน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รักษาการปลัด พม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. จำนวน 4 คน
นำโดย พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ, นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม, นายพิรุฬ เพียรล้ำเลิศ ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และนางสุภัชชา สุทธิพล ผู้ตรวจราชการ พม. คาดว่าจะเริ่มประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อให้การสอบข้อเท็จจริงมีความรวดเร็วที่สุด หากไม่พบผิดจะได้ย้าย 2 ผู้บริหารดังกล่าวกลับมาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม กรณีที่คณะกรรมการมี 4 คน หากสุดท้ายมีความเห็นเสมอกัน ก็เป็นหน้าที่ประธานจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้มีสื่อมวลชนสอบถามกรณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง คณะผู้บริหาร พม. จึงหารือกันว่าจะจัดให้มีการแถลงข่าวทุกบ่ายวันพุธ เพื่อชี้แจงข้อมูลการทำงานของทุกกรม ไม่เพียงเรื่องทุจริตเงินสงเคราะห์เท่านั้น
ด้าน นางสุภัชชา สุทธิพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หนึ่งในกรรมการสอบข้อเท็จจริง นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ตนยังติดมาราชการที่จังหวัดตาก เพิ่งรับทราบคำสั่งที่ให้เป็นกรรมการสอบ และยังไม่ทราบว่าจะเริ่มประชุมนัดแรกได้วันไหน
...
เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ที่ต้องทำหน้าที่นี้ โดยเฉพาะการต้องมาตรวจสอบผู้บังคับบัญชา นางสุภัชชาตอบด้วยน้ำเสียงอ้ำอึ้งว่า ก็คงว่ากันไปตามหลักการ
ขณะที่ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า พส. ได้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในแต่ละศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางจังหวัดไม่พบการทุจริต ส่วนที่ทราบจากสื่อมวลชนล่าสุดว่า ป.ป.ท. พบการทุจริตแล้ว 14 จังหวัด ทาง พส.จะลงตรวจซ้ำอีกรอบ
เบื้องต้นที่ พส.ลงไปตรวจและพบความไม่ปกติเพิ่มมี สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ พัทลุง แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด ขณะนี้มีเพียง 2 จังหวัดคือ ขอนแก่น และเชียงใหม่ ที่พบมีมูลและย้าย ผอ.ศูนย์ฯ ออกจากพื้นที่แล้ว ส่วนกรณี ป.ป.ท. ระบุว่าบางพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือส่งข้อมูลเอกสารเหมือนยื้อเวลานั้น ตนก็ได้รับทราบจากข่าว แต่ยืนยันว่าได้มีการส่งหนังสือแจ้งทุกศูนย์ฯ ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกกับ ป.ป.ท. ตามคำสั่งการ รมว.พม.แล้ว แต่หากยังมีศูนย์ฯ ใดไม่ให้ความร่วมมือ ป.ป.ท.สามารถแจ้งมาที่ พส. เพื่อเป็นตัวกลางประสานไปอีกครั้ง
ส่วน น.ส.อัจฉรา สรวารี นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิอิสรชน เปิดเผยถึงกรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งว่า เป็นเรื่องจิตสำนึกของคนทำงานของข้าราชการ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของระบบหรือกลไกการทำงาน เพราะบางศูนย์ฯ ที่ไม่โกงก็มี จึงอยู่ที่จิตสำนึกของคนล้วนๆ แม้ระบบจะเอื้อหรือห่วยอย่างไร หากคนไม่คิดคอร์รัปชันก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นไม่อยากให้เหมารวมเพราะคนที่ทำงานดี ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบทำงานได้ยากขึ้น อย่างบางเคสพบว่าวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ พม. และเอ็นจีโอที่ไปช่วยเหลือ เพราะไม่เข้าใจ
ทั้งนี้เรื่องจิตสำนึกเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการให้คนทำงานด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นเพียงลูกจ้างจ้างเหมา บางคนต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการคดโกงได้ เมื่อมีช่องว่าง จึงอยากเรียกร้องให้ดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันก็สร้างจิตสำนึกภายในให้เกิดขึ้นกับบุคคลที่ทำงานเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ โดยส่วนตัวยังคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะการเร่งรีบการจัดสรรเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพราะต้องการสร้างผลงาน พอทราบประวัติคร่าวๆ ของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ก็ไปสำรวจแบบเร็วๆ สุดท้ายก็เอามาเซ็นแทนชาวบ้านเหมือนเคสทุจริตที่ศูนย์ฯ ขอนแก่น แต่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่แน่นอนก่อนเบิกจ่ายเงิน รวมถึงการเปลี่ยนผู้บริหารประจำศูนย์ฯ ด้วยการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ทำให้ไม่เกิดการต่อยอดในการทำงาน.