การจัดสัมมนาเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชหรือที่เขาเรียกกันว่า Plant Science โดย มูลนิธิครอฟไลท์เอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการนำเทคโนโลยี การแก้ปัญหาการทำการเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารจากภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่ถูกนำขึ้นมาพูดมากเป็นพิเศษในวงสัมมนา...การนำเทคโนโลยีจีเอ็มโอเพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก
โดยมีการหยิบยก ผลทดสอบของนักวิทยาศาสตร์ด้านอารักขาพืช ในหลายประเทศ พบว่า การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอาหารของพลโลกที่เพิ่มขึ้นได้
องค์การสหประชาชาติ ได้คำนวณจำนวนประชากรโลกในอีก 32 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ.2593 จะมีมากถึง 8,000 ล้านคน หากยังใช้วิธีผลิตอาหารแบบเดิมๆ ไม่เสริมด้วยพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือไม่ใช้สารอารักขาพืช ผลผลิตจะเสียหายจากศัตรูพืชที่รุนแรง และหนักหน่วงมากขึ้นในอนาคต
อีกปัญหา การทำแปลงเกษตรอินทรีย์ต้องใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชมากขึ้น ในขณะที่อนาคตแรงงานในแถบอาเซียน อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจการทำเกษตร
ดร.พอล เต่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยนานาชาติ NIT, NTU สิงคโปร์ ชี้ว่าขณะนี้หลายประเทศมีกฎหมายรองรับการใช้เทคโนโลยีพืชจีเอ็มโอและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เเตกต่างกันออกไป และปัจจุบันหลายประเทศได้กลับมาทบทวนปัญหาและวางกรอบทั้งสองเรื่องไว้แล้วในอนาคต
ส่วนประเทศไทย ดร.พอล มองว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นแกนกลางที่ชัดเจน ทั้งการใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารปลอดภัย (food safety) ทั้งสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของตัวเกษตรกร เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและหลีกเลี่ยงไม่ได้...ยิ่งรัฐบาลประกาศลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาจจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยผลิตอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีจีเอ็มโอมาทดแทน เป็นต้น
...
ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์ว่ามาอย่างนี้...รัฐบาลไทยจะกล้าคิดกล้าทำแค่ไหน.
สะ–เล–เต