รรท.เลขาฯ ป.ป.ท. ลงพื้นที่บึงกาฬ-หนองคาย ลุยตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ พบตำบลเดียวกว่า 30 ราย พร้อมย้ำขณะนี้มี ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ที่ตรวจสอบชัด และจะดำเนินการขยายผลให้ปรากฏข้อเท็จจริงภายใน 3 เดือน ภายใน 31 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เวลา 09.00 น. จากกรณี ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น เผยที่บึงกาฬมีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ชาวบ้านหลายคนมีชื่อแต่ไม่ได้รับเงินนั้น ขณะนี้ชุดสืบสวนสอบสวนจาก ป.ป.ท.กลาง และ ป.ป.ท.เขต 4 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่ จ.บึงกาฬ เบื้องต้นพบรายชื่อชาวบ้านอยู่ในทุกกลุ่ม ที่มีชื่อรับเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้รายละ 2,000 - 3,000 บาท โดยรายละเอียดเบื้องต้นมีการตรวจสอบชัดเจนแล้วว่ามีหลายคนที่ไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่บาทเดียว
ในวันนี้ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของชุดปฏิบัติการฯ ตรวจสอบการทุจริตเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.จังหวัดบึงกาฬ และ 2.จังหวัดหนองคาย สำหรับจังหวัดบึงกาฬนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่บ้านท่าสะอาด บริเวณศาลาประชาคมของหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 พบว่ามีการทุจริตจริง โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้ตั้งโต๊ะสอบสวนประชาชนที่ถูกศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดบึงกาฬ นำรายชื่อพร้อมหลักฐานไปปลอมลายมือชื่อ พร้อมทำบันทึกคำให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.
...
พ.ท.กรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดบึงกาฬ โดยชุดปฏิบัติการจากกองกำลังการภาครัฐที่ 4 ลงพื้นที่ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ได้มีการตรวจสอบพบว่าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบึงกาฬ ได้รับงบประมาณในปี 2560 ประมาณ 1.8 ล้านบาท มีผู้ยากไร้จำนวน 1,176 คน แยกเป็นสงเคราะห์รายละ 1,000 บาท จำนวน 500 กว่าคน รายละ 2,000 บาท จำนวน 500 กว่าคน รายละ 3,000 บาท จำนวน 46 คน ทั้งหมดนี้มีการกระจายพื้นที่กันไปในจังหวัดบึงกาฬ แต่จำนวนคนที่เราตรวจสอบมีมากที่สุดก็คือในพื้นที่ตำบลท่าสะอาด อ.เซกา ในหมู่ที่ 1, 2, 6, 7 ซึ่งในขณะนี้มีประชาชนประมาณ 30 กว่าคน ที่ไม่ได้รับเงิน ในเบื้องต้นที่เราตรวจสอบไม่รู้เรื่อง ไม่ทราบว่ามีการดำเนินการ และทุกคนยินดีให้ถ้อยคำ จากการที่เราตรวจสอบมีการมาจัดอบรมในพื้นที่ต่างๆ มีประชาชนเข้ารับการอบรม แล้วก็มีการขอถ่ายบัตรประชาชนแล้วไปดำเนินการต่างๆ ชาวบ้านไม่รู้ อันนี้คือพฤติกรรมที่ตรวจพบในพื้นที่หมู่ที่ 1 และกำลังตรวจสอบว่าแต่ละแห่ง แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด มีคล้ายคลึง หรือมีแตกต่างกันอย่างไร ในการตรวจสอบจะต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคลเพราะทุกคนจะยืนยันเองว่า ได้รับหรือไม่ได้รับ และมีลายเซ็นรับเป็นของเขา จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
"กองกำลังปฏิบัติการภาครัฐที่ 4 ได้ตรวจสอบไปที่หนองคาย ได้เจอในลักษณะเดียวกัน เขาจะทำการตรวจสอบทั้ง 2 จังหวัดควบคู่กันไป และในวันนี้สำนักงาน ป.ป.ท. โดยท่านผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. ได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปตรวจสอบก็พบเช่นกัน ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแบบนี้เช่นกัน ตอนนี้ที่ตรวจสอบมีปรากฏชัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี เราจะทำการตรวจสอบอย่างนี้ตลอดไป โดยสำนักงาน ป.ป.ท.วางแผนการดำเนินการว่าจะมีการตรวจสอบดำเนินการขยายผลให้ปรากฏข้อเท็จจริงภายใน 3 เดือน ภายใน 31 พ.ค.61 จะให้รู้ว่าทั้ง 76 ศูนย์มีการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยวางไว้ว่าในการตรวจสอบจะตรวจสอบการสงเคราะห์คนยากไร้ปีงบประมาณ 2560" พ.ท.กรทิพย์ กล่าว และว่า ขณะนี้ ป.ป.ท.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทั้งหมด เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบการใช้งบประมาณและการดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับชาวบ้านกลุ่มใดบ้าง แต่ละกลุ่มใช้เงินงบประมาณไปเท่าใด รวมทั้งตรวจสอบกับชาวบ้านตามรายชื่อที่ระบุในการเบิกจ่าย โดยผู้อำนวยการศูนย์ฯ ทุกศูนย์ฯ ต้องให้ความร่วมมือเพื่อแสดงถึงการทำงานที่โปร่งใส.
...