งวดเข้ามาทุกขณะ สำหรับคดี “หวย 30 ล้าน” ระหว่าง ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตตำรวจ ผู้ถือสลากเลข 533726 ไปขึ้นรางวัล VS ครูปรีชา ใคร่ครวญ ครูโรงเรียนดังเมืองกาญจนบุรี ที่อ้างว่าทำ “หวยหาย” และมีพยานมากมาย อ้างว่าซื้อมาจริง จนเป็นที่มาของคำว่าขบวนการ “ตกหวย” ซึ่งจะมีจริงหรือไม่ ไม่ช้าไม่นาน ตำรวจกองปราบปราม จะเป็นผู้พิสูจน์
จะว่าไปแล้ว คดีนี้หลายคนก็ตั้งคำถาม
“มันยากนักหรือ...ทำไมไขไม่ได้สักที..?”
“คดีนี้มันสลับซับซ้อนตรงไหน..”
“คดีนี้พนักงานสอบสวนดำเนินการถูกขั้นตอนและกฎหมายหรือไม่..”
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้อดีตตำรวจมือฉมัง ที่โชกโชนด้านงานปราบปราม และแม่นกฎหมาย มาเล่าให้ฟังเป็นฉากๆ เขาคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน คือ
“ผู้การวิสุทธิ์ วานิชบุตร” โดยเฉพาะคำว่า “หน้าที่” ของ “พนักงานสอบสวน”
และก็ไม่รอช้า ผู้การวิสุทธิ์ ก็มาแนวเดิม เสียงดังตามสไตล์ แต่จะขอไล่เรียงทีละประเด็น...
...
พยานยิ่งมาก..ยิ่งซวย หากถูกซักตอบไม่ตรงกัน โอกาสหลุดสูง!
ผู้การวิสุทธิ์ เริ่มเลกเชอร์ทันทีว่า...ตามหลักของการสืบสวนสอบสวนแล้ว หากพยานยิ่งมีมาก ยิ่งซวย..!
อดีตตำรวจชื่อดังทิ้งระยะสักครู่ก่อนเฉลยว่า.. หากพยานยิ่งเยอะ โอกาสพยานจะให้การไม่ตรงกันยิ่งมีมาก หากถูกทนายฝ่ายตรงข้ามซักทีละประเด็น เช่น พยานคนนี้เห็นลุงจรูญเก็บลอตเตอรี่ได้ ก็จะถูกซักไซ้ทันทีว่าเก็บได้ที่ใด ลักษณะใด โดยจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคำให้การกับตำรวจพื้นที่อย่างไร ตำรวจภาค 7 อย่างไร และให้การกับกองปราบอย่างไร..
“หากพยานที่ว่าไม่ใช่ของจริง สุดท้ายก็ต้องหลุด..เพราะอาจให้การไม่ตรงกัน”
คำถามต่อมา ทำไมคดีนี้ถึงยากนัก สลับซับซ้อนตรงไหน..?
คำถามนี้เชื่อว่าหลายคนก็อยากรู้ ผู้สื่อข่าวเองก็เช่นกัน จึงสอบถามกับ อดีตตำรวจชื่อดัง ก่อนจะสาธยายให้ฟังว่า
ปมที่ 1 นิติวิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นิติวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะการตรวจ DNA ของคดีนี้ แตกต่างจากคดีอาชญากรรม หรือ ฆาตกรรม เพราะทางนิติวิทยาศาสตร์ตรวจไม่เจอ และเมื่อพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องไปดูที่ลายพิมพ์นิ้วมือ...แน่นอนมีลายนิ้วมือของ ลุงจรูญ เพราะเป็นคนขึ้นเงิน และคำอ้างของ ครูปรีชา ที่ว่าเขาจับแค่พลาสติก ก็พอฟังได้ แต่...
คำถามคือ...ครูปรีชา ไม่คิดจะจับลอตเตอรี่เลยหรือ เมื่อซื้อหวยตั้ง 5 ใบ ไม่คิดจะเช็กเลยหรือว่า ลอตเตอรี่ที่ให้มาทั้ง 5 ใบ ใช่เลขเดียวกันหรือไม่ ครบมั้ย...?
อีกประเด็นสำคัญคือ คือ ไม่มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด
ปมที่ 2 กองปราบไม่ได้ทำแต่แรก พยานน่าสงสัย คล้ายมีขบวนการ “ปั้นพยาน”
ผู้การวิสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า คดีนี้กองปราบไม่ได้ทำแต่แรก ตำรวจภูธร ภาค 7 เป็นคนทำ อีกทั้งพยานก็มีเยอะมากจนน่าสงสัย แถมคล้ายกับมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จึงมองว่า “น่าจะเป็นขบวนการ”
“ข้อที่ผิดสังเกต คือ พยานฝ่ายครูมีเยอะมากจนเกินไป อีกทั้งพยานแต่ละคนคล้ายมีการมีการแบ่งหน้าที่เป็นฉากๆ เลย”
ผู้การวิสุทธิ์ ได้ยกตัวอย่าง ประกอบด้วย
1. มีพยานเห็นว่าเก็บได้
2. พยานเห็นลอตเตอรี่เบอร์นี้อยู่ในกระเป๋า
3. พยานไปร้านทำผม บอกว่า เมียลุงจรูญ พูดว่าสามีเก็บลอตเตอรี่ได้
นอกจากนี้ ยังมีพยานอีกหลายปากที่เห็นตั้งแต่กระบวนการซื้อ ยื่นให้คนนี้ ส่งต่อคนนั้น ได้ยินเสียงว่าลุงจรูญพูดว่าเก็บลอตเตอรี่ได้ พยานต่อเนื่องเป็นทอดๆ เพื่อให้พยานทั้งหมดดู “เจือสม” กัน (มีความสอดคล้อง หรือสนับสนุนให้น่าเชื่อ)
...
ปมที่ 3 ตามตำแหน่งหน้าที่ พนักงานสอบสวนที่ใหญ่ที่สุด คือ คนระดับผู้การฯ แต่.. “ทำหน้าที่” ถูกต้องหรือไม่?
เมื่อ ผู้การวิสุทธิ์ วิเคราะห์คดีมาถึงตรงนี้ เขาจึงขอพูดในฐานะอดีตนายตำรวจเก่า เคยทำหน้าที่ “พนักงานสอบสวน” อย่างโชกโชน จึงขอสอนมวยกับตำรวจภาค 7 ว่า...
คุณรู้ไหม... พนักงานสอบสวนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด คือ คนระดับผู้การจังหวัด แต่ทำไมคดีนี้จึงทำผิดหลายขั้นตอน
1. ทำไมพนักงานสอบสวนไม่สอบสวนที่โรงพัก...คุณมีสิทธิ์อะไรเรียกลุงจรูญไปพูดคุยที่บ้าน แล้วไม่ให้ลูกเมียเขาเข้าไปด้วย มีการพูดคุยกัน 2 ต่อ 2
2. ข้ออ้างที่ว่ามันนอกเวลาราชการแล้ว ทั้งที่ บ้านคุณ กับ โรงพัก มันห่างกันไม่ถึง 20 เมตร แบบนี้ก็ได้เหรอ...ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวเสียงดังอย่างกังขา
หน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ทำงานกันจริงๆ เขาทำกันยังไง...ผู้การวิสุทธิ์อธิบายขั้นตอนไว้อย่างละเอียด ดังนี้
สมมติว่า มีครูมาแจ้งความว่า “ลอตเตอรี่หาย” หน้าที่ของพนักงานสอบสวน ต้องสอบสวนให้ได้ว่า “ครู” เป็นเจ้าของลอตเตอรี่มีที่มาที่ไปอย่างไร... ต้องสอบให้ชัดเจนว่า ลอตเตอรี่ของครูหายที่ไหน...
...
คุณรู้ไหมว่าใครเป็นคนเก็บได้ คำถามคือ ครูจะรู้ไหมว่าใครเป็นคนเก็บได้ แล้วคำถามคือ คุณรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนไปเบิกเงิน โดยจากคำอ้างว่าไปเช็กกับกองสลาก จึงรู้ว่า ลุงจรูญ เป็นคนมาเบิกเงิน
เราต้องสืบสวนให้แน่ชัดก่อน ถึงจะเรียกลุงจรูญมาสอบสวนได้..!!?
หากสอบสวนแน่ชัดแล้วว่ามีมูลจริง ความเป็นไปได้ก็อาจจะมี 2 แนวทาง คือ ถูกขโมยไป หรือ ทำหวยตกหาย และนี่เองกลายเป็นที่มาของ 2 ข้อหา คือ ยักยอกทรัพย์ และ รับของโจร (เช่น เก็บลอตเตอรี่ได้แล้วมีคนมาขายต่อ แบบนี้รับของโจร หรือในวรรค 2 ข้อหาเก็บของตกได้)
ลำดับต่อไป ต้องมีหมายเรียกมาที่ หมวดจรูญ มาให้การ (ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา) หากเรียก 2 ครั้งแรกไม่มา ค่อยทำเรื่องเสนอศาล แล้วออกหมายจับ
คำถามคือ พนักงานสอบสวนรู้ได้ยังไงว่า ลอตเตอรี่เป็นของครูปรีชา 100% หรือ ของลุงจรูญ 100% จึงจำเป็นต้องเรียกลุงมาสอบ ว่าซื้อมาที่ไหน อย่างไร
หลังจากนี้พนักงานสอบสวนก็จะต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อใคร หากเชื่อครู ก็ต้องทำสำนวนฟ้องหมวดจรูญไป หากเชื่อหมวดจรูญ ก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีครูปรีชา แจ้งความเป็นเท็จ
นี่คือหน้าที่ของตำรวจ!!
ถ้าตำรวจทำแบบนี้ ตำรวจก็ไม่ผิด เพราะทำถูกต้องตามกระบวนการ...
...
ปมที่ 4 เรียกมาไกล่เกลี่ย ส่อผิดกฎหมาย เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด ล้วนเป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้!
ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่าที่จริงคดีนี้นับเป็นคดีอาญาทั้ง 2 ฝ่าย เพราะ...
หากครูปรีชามีความผิด จะโดนข้อหาแจ้งความเท็จ และตามมาตรา 174 ใส่ความให้ได้รับโทษทางคดีอาญา ทั้งนี้ คดีของครูปรีชานั้นเป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้
หมวดจรูญ ก็โดน 2 เด้งเหมือนกัน คือ คดีลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ วรรค 2 ยอมความได้ และรับของโจร เป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่คุณนัดไปที่บ้านแล้วบอกว่าแบ่งกันคนละ 15 ล้าน คำถามคือ “เป็นหน้าที่ของคุณหรือ..”
ตอนนั้น “พนักงานสอบสวน” ยังไม่รู้ว่าใครผิด ยังตัดสินใจไม่ได้ พนักงานสอบสวนก็ต้องสืบสวนต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือยังไม่สอบสวนให้สิ้นกระแสความชัดเจนก่อน แล้วมีอำนาจอะไรไปเรียกมาคุยต่อรอง..
“ถ้ายังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดก็จะส่งฟ้องไม่ได้ เพราะต้องส่งฟ้องข้างใดข้างหนึ่ง หากยังตัดสินไม่ได้ก็ต้องรอไปก่อน...แต่เรื่องนี้อาการมันออก บ่งบอกโดย 1. ไปอายัดเงินเขาได้อย่างไร 2. เรียกเข้าไปคุย บอกแบ่งคนละครึ่งได้ไง.. หน้าที่คุณหรือ หากคิดให้ลึกหน่อยก็อาจจะมองว่า มีผลประโยชน์หรือไม่..? หรืออาจจะมองว่าขี้เกียจทำสำนวน เลยจับมาแบ่งกันจะได้จบๆ ดีไม่ดีแบ่งให้ทั้ง 2 ข้าง อาจจะได้ส่วนแบ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นได้..?” ผู้การวิสุทธิ์ ตั้งคำถาม
ปมที่ 5 อำนาจ อายัดเงินในบัญชี...
นอกจากแนวทางการสอบสวนของเจ้าพนักงานแล้ว ผู้การวิสุทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการอายัดเงินลุงจรูญ
“ตำรวจมีหน้าที่อะไรไปขออายัดเงินในบัญชี..?” ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวอย่างดุดัน พร้อมคำอธิบายว่า ตำรวจไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะอายัดเงินบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ผู้ที่มีอำนาจอายัดเงินได้ ได้แก่...
1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
3. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
4. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
5. ศาล
อดีตำตรวจชื่อดัง กล่าวว่า การใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” ความเป็นจริง ลุงจรูญ ก็ต้องถอนเงินได้สิ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเขาไม่มีอำนาจ..มีคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้ผู้จัดการแบงก์ไม่รู้หรือ..?
ทั้งนี้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ ผู้ใดครอบครองทรัพย์อยู่ในมือ ถือว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งตรงนี้กฎหมายเขาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนครอบครอง คือ เจ้าของทรัพย์
“ลอตเตอรี่ อยู่ในครอบครองลุงจรูญ ถือว่าลุงจรูญ เป็นเจ้าของ..”
แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า พิสูจน์ให้ได้ ทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิชอบ!... “หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ยังเป็นของลุงจรูญอยู่”
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เงินถูกอายัดไปแล้ว 2. เงินที่ถูกอายัดโดยชอบ หรือมิชอบ
หากลุงจรูญ ต้องการจะใช้เงินก็สามารถยื่นขอศาลให้ถอนอายัด โดยระบุว่าอายัดโดยมิชอบ โดยที่ไม่มีอำนาจอะไรก็ว่าไป...
แต่ทำไม ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ลุงจรูญ ไม่ขอถอนอายัด มีข้อดี “เพราะถ้าไปขอถอนอายัดจะถูกสังคมมองไม่ดี...ทำไมโลภ อยากได้เงิน อยากอายัดก็ให้อายัดไป”
สมมติว่า เจ้าของบัญชีเป็นหนี้อยู่ แต่ถูกอายัดเงิน แต่เมื่อพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นเจ้าของเงิน เขาสามารถฟ้องร้องผู้ที่สั่งอายัดได้ เพราะทำให้เขาเสียหาย เป็นหนี้ สมมติอายัด 8 เดือน ก็โดนฟ้องเรียกดอกเบี้ย 8 เดือน เป็นต้น
ปมที่ 6 ทำไมฝ่ายครูปรีชา อยากไปเจอกันที่ศาล
ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า ครูปรีชาเป็นตัวเอกของเรื่อง หากไปที่ศาลแล้วคดีจะยาว อาจจะ 3-5 ปี อาจจะรอด หรือคลี่คลายในที่สุด ทีมงานฯ ของครูปรีชา ฉลาด ให้ฟ้องทางแพ่งก่อน เพราะต้องการที่จะดึงไปศาล กว่าศาลจะสอบพยานทั้ง 40 ปากของฝ่ายครูปรีชาครบ บางทีก็เลื่อน บางคนป่วยก็เลื่อน แบบนี้ประมาณ 5 ปี..
“แต่ว่าเจ้าพนักงานอื่นต้องยื่นคำร้องไปที่ศาลได้ ซึ่งจุดนี้เองมันก็เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง ที่ทำไมต้องอายัด เพราะหาก ลุงจรูญ เอาเงินไปใช้แล้ว แก๊งนี้จะเหลืออะไร..”
ปมที่ 7 เดิมพันสูง พยานไม่กล้ากลับลำ เหมือน “ตกกระไดพลอยโจน” คนซวยที่สุดอาจเป็น "ตำรวจ"
ผู้การวิสุทธิ์ เผยความรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราก็สงสัยในฐานะอดีตตำรวจว่า ทำไมพนักงานสอบสวนไม่ทำงานแบบนี้.. ส่วนตัวมองว่าคดีนี้เพราะเงินมันจำนวนมาก เรื่องนี้มันเลยเถิดเกินที่จะรับสารภาพแล้ว เพราะว่ามีคนที่รู้กฎหมาย และมีอำนาจร่วมในขบวนการนี้ด้วย ทำให้พยานต่างๆ กล้า เพราะมีผู้อำนาจหนุน มีคนที่มีความรู้หนุน..พยานจึงไม่กล้ากลับลำ เพราะกลับลำก็อาจติดคุกได้ เช่น แจ้งความเท็จ
“หากพยานไปให้การที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี ที่ ตำรวจภูธรภาค 7 และ กองปราบแล้ว แล้วพบว่าให้การเท็จ จะโดน 3 เด้ง เพราะต่างกรรมต่างวาระ “คำถามง่ายๆ จังหวัดนี้ใครใหญ่ที่สุด... ถ้าไปยอมกลับลำใครจะช่วยเธอได้..ความผิดสำเร็จแล้ว”
อดีตตำรวจชื่อดัง บอกว่า เรื่องแบบนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน อย่างเช่น คดีฆาตกรรมซ่อนเงื่อน แต่มันสามารถแบ่งหน้าที่กันได้ อาจจะมีการแต่งพยานไปคนละจุด เอ๊ะ มีพยานเป็นข้าราชการนะ เอ๊ะ เดี๋ยวจะเอาดอกเตอร์มาเป็นพยานนะ จะได้ดูมีน้ำหนัก อย่างไรก็ดี คดีนี้ที่คลี่คลายได้ ต้องยกความดี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม มีส่วน เพราะเอาคลิปเสียงมาได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คลิปเสียงนั้น หากเราคุยกันไปแล้ว เราไม่สามารถดึงอะไรมาได้ ยกเว้น ครูปรีชา หรือ เจ๊บ้าบิ่น เท่านั้น
“งานนี้คนซวยที่สุด อาจเป็น ตำรวจ ความเป็นจริงตอนนี้สามารถเล่นงานได้แล้ว ที่ไปสั่งอายัดเงิน ที่เรียกไปพบคุยที่บ้าน ไม่ได้ทำตาม “หน้าที่ของพนักงานสอบสวน” ครั้งแรกขบวนการนี้อาจต้องการแบ่งเงินกัน 15 ล้าน แต่หลังจากนั้นดูแล้วไม่สำเร็จ ตกกระไดพลอยโจนแล้ว เลยพลิกจะเอาไป 30 ล้าน ด้วยการจัดตั้งพยาน ได้เงินมากขึ้นก็ต้องให้พยานมากขึ้น”
หากตนเป็นพนักงานสอบสวนนะ จะบอกเลยว่าจะไม่แจ้งข้อหากับพยานที่กลับคำให้การ แต่จะกันตัวเป็นพยาน จะไปบอกทำไม ว่าจะโดนโทษทางอาญา ตามมาตรา 174 ใส่ร้ายให้มีโทษทางอาญา ที่ผ่านมา หลายคดี พยานบางคนให้การเป็นประโยชน์ก็จะถูกกันตัวเป็นพยานได้ ซึ่งตามกฎหมาย ป.วิอาญา ก็ให้อำนาจไว้..
คดีนี้จะจบอย่างไร... หวย 30 ล้านจะเป็นของใคร.. มีขบวนการปั้นพยานเท็จจริงหรือไม่ เชื่อว่าไม่พ้นสายตา ตำรวจกองปราบปราม ตามสโลแกน “เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่หมายพึ่ง”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
- ติดตาม คลิปซีรีส์สกู๊ป ศึกชิงหวย 30 ล้าน จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ที่นี่ -
- สกู๊ปศึกชิงหวย 30 ล้าน ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวข้อง -