ความจริงกับ การบิดเบือนความจริง ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการบริหารนโยบายของประเทศไปให้ถึงสุดซอย ส่วนหนึ่งคือ ความเด็ดขาดในการกล้าตัดสินใจ เพราะเรื่องบางเรื่อง ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศและคนส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้เพราะเหตุผลเบาๆ ติดเรื่องของสิ่งแวดล้อมบ้าง ติดเรื่องการคัดค้านของเอ็นจีโอบ้าง จนท้ายที่สุดประเทศต้องเสียโอกาสไปอย่างมหาศาล แม้ความจริงจะปรากฏชัดเจนแล้วว่าไม่กระทบทั้งปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนก็ตาม
เช่นเรื่องของ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และที่เทพา จ.สงขลา ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 งานนี้ใครได้ใครเสียไม่รู้ แต่รู้ว่าชาติเสียประโยชน์แน่นอน การดำเนินโครงการต้องชะลอไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้กลับไปทำขั้นตอนของ EHIA การสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ทำแล้วทำอีกไม่รู้กี่รอบ ในขณะที่ภาคใต้เริ่มจะขาดแคลนไฟฟ้าเนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นแต่ปริมาณการผลิตน้อยลง ไม่สมดุลกันในหลักของการบริหารและนโยบายพลังงานแห่งชาติ
กระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศแน่นอน
ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2565-2566 แหล่งปิโตรเลียม บงกช และเอราวัณ จะสิ้นสุดการสัมปทานลง เป็นการปิดฉากของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 2,160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 2 ใน 3 ของแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
และแหล่งก๊าซทั้งสองแหล่งผลผลิต ถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ถึงร้อยละ 40 หลังจากหมดสัมปทานแล้วยังไม่มีการเปิดให้สัมปทานใหม่ คิดด้วยเหตุผลง่ายๆคือ ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ มาทดแทนร้อยละ 40 ในราคาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง จะกระทบกับค่าไฟฟ้าอย่างไรไม่ต้องไปคิดให้เมื่อยตุ้ม
...
ประเด็นนี้ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและมีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่มีก๊าซมาสำรองให้เพียงพอจะทำให้ไฟฟ้าดับครึ่งประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ชี้แจงว่าเอกสารเชิญชวนประมูลโครงการสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะแล้วเสร็จในเดือนนี้และจะเปิดให้ประมูลได้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งมีนักลงทุนจากหลายประเทศที่ให้ความสนใจ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย รวมทั้งผู้ได้รับสัมปทานเดิม ปตท.สผ. และ กลุ่มเชฟรอน เป็นต้น มีเงื่อนไขว่าผู้ประมูลจะต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำจากทั้งสองแหล่งในปริมาณที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
จากนี้ไปต้องติดตามว่า การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทั้งสองแห่งจะเป็นโรคเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึง อนาคตด้านพลังงานของประเทศที่อยู่บนเส้นด้าย ความกล้าหาญ ในการตัดสินใจของรัฐบาลจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าประเทศไทยจะรอดจากวิกฤติครั้งสำคัญนี้ได้หรือไม่.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th