เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศที่กำลังเป็นกระเเสสังคมในเวลานี้ จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 61 นายวิเชียร ชิณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทำการจับกุมตัว นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร และกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และพวกอีกสามคน ลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดที่ไม่อนุญาต พร้อมของกลางเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองหายาก เช่น เสือดำ ไก่ฟ้า เก้ง
ข่าวนี้สร้างความสลดใจให้กับคนทั้งประเทศ เนื่องจากสัตว์ป่าคุ้มครองทั้ง 3 ประเภทที่ถูกปลิดชีพ สังเวยความอยากกินของแปลก โดยเฉพาะเสือดำนี้ ถือว่าเป็นสัตว์หายาก กระแสสังคมและโลกโซเชียลต่างรุมโจมตีคนกลุ่มนี้อย่างหนักว่า “ทำไมถึงทำได้ลงคอ” เพราะสัตว์พวกนั้นไม่ได้ชั่วร้ายอะไร ไม่ได้ทำผิดอะไร แล้วเหตุใดถึงมาจบชีวิตแบบนี้
และจากการตรวจพิสูจน์วิถีกระสุนรอบ 2 ซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยึดได้ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ก.พ. นำทีมโดย พ.ต.อ.สมหมาย โชติกะนาวิน นักวิทยาศาสตร์ สัญญาบัตร 4 กลุ่มงานเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 รักษาราชการแทน นักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ตำรวจภูธรภาค 7 นครปฐม รวมถึงทีมสัตวแพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง พบหนังเสือดำมีรอยกระสุน 8 รู ไก่ฟ้าหลังเทา มีรอยกระสุน 12 รู บริเวณน่องซ้าย 3 รู คอ 1 รู ลำตัวด้านขวา 8 รู ส่วนลำตัวด้านซ้าย และปีกหายไป
...
การตรวจพิสูจน์ครั้งนี้ถือว่าครบถ้วนมาก แต่อย่างไรก็ต้องรอสรุปผลในที่ประชุมว่ายังขาดเหลืออะไรหรือไม่ ก่อนรวบรวมส่งผลการตรวจพิสูจน์เบื้องต้นให้คณะพนักงานสอบสวนเพื่อประกอบสำนวนคดีต่อไป
และเมื่อการตรวจพิสูจน์เสร็จสิ้นอย่างหมดจดจริงๆ การจัดการศพของสัตว์ป่าคุ้มครองเหล่านี้ และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องจัดพิธีการทางศาสนา หรือมีความเชื่ออะไรหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์นำประเด็นน่ารู้เหล่านี้ สอบถามความกระจ่างกับ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ ‘หมอล็อต’ หมอสัตว์ป่าชื่อดังแห่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
พบซากศพ ต้องชันสูตรหาสาเหตุการตาย
“เวลาที่เรามีการพบซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ตาย ก็จะมีการชันสูตรโดยสัตวแพทย์ เพื่อหาสาเหตุการตายว่า ตายด้วยโรค อุบัติเหตุ พฤติกรรมจากธรรมชาติ หรือตายจากการกระทำของมนุษย์ หากตายเพราะมนุษย์ จะมีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน” หมอล็อต เร่ิมอธิบายถึงกระบวนการแรก
ก่อนทำลายซากต้องขออนุมัติตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2488
และอธิบายขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนการทำลายซาก เนื่องจากเมื่อมีการชันสูตรเสร็จสิ้น ซากเหล่านี้ก็จะเน่า เสื่อมสลาย และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ เพราะฉะนั้นต้องทำลายซากสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งก่อนทำลายนั้นต้องมีการขออนุมัติอย่างถูกต้อง
“การทำลาย จะต้องมีการขออนุมัติทำลายซาก ต้องทำการลงบันทึกประจำวันก่อน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พนักงานสอบสวน คือ ตำรวจ สัตวแพทย์ และพยานอื่นๆ มาร่วมกัน เพื่อควบคุมโรค ป้องกันการแพร่ระบาด หรือการเกิดเชื้อโรคติดต่อ” หมอล็อต อธิบายถึงขั้นตอนลำดับต่อมา
วิธีทำลายซาก แล้วแต่วิจารณญาณของสัตวแพทย์ เน่าเหม็นมาก การฝังกลบอาจไม่เพียงพอ
สำหรับวิธีการทำลายซากจะอ้างอิงตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2488 ของกรมปศุสัตว์ คือ ฝังกลบ โรยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือจะเผาก็ได้ แล้วแต่วิจารณญาณของสัตวแพทย์ในขณะนั้นว่าจะใช้วิธีใด
“เวลาสัตว์ทุกชนิดตาย มีการย่อยเสื่อมสลาย หรือเน่าสลายเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอยู่ที่วิจารณญาณของแพทย์ว่าจะใช้วิธีการใด ถ้าเกิดซากเน่าเหม็นมาก การฝังกลบอาจไม่เพียงพอกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ก็อาจจะใช้วิธีการเผาก็ได้ หรือหากซากนั้นใหม่ ไม่ได้เหม็นเน่า ยังไม่สลาย ถ้ามีจุดที่สามารถขุดฝังได้ก็ทำได้เลย และกลบน้ำยาฆ่าเชื้อ”
...
ส่วนการเผามีวิธีการที่พิเศษอย่างไรหรือไม่นั้น หมอล็อต ตอบข้อสงสัยนี้กับทีมข่าวจากประสบการณ์ที่ปกป้องผืนป่ามา 10 กว่าปี ว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพียงขุดหลุม ก่อกองฟืน กองฟางแล้ว เผาปกติเพื่อทำลายซาก หรือกรณีเผาไม่ได้ ก็มีวิธีการส่งไปที่สถาบัน หน่วยงานบางหน่วยงานที่รับกำจัดซาก ทำลายซาก แล้วแต่กรณี ไม่มีอะไรซับซ้อน
“อย่างช้างก็ทำลายซากแล้วแต่กรณีเหมือนกัน หากตายธรรมชาติในป่าลึก ก็ไม่ต้องทำลาย ปล่อยทิ้งไว้ให้เน่า ให้ย่อยสลาย ให้สัตว์กินซากมากิน บางกรณีหากซากเน่าเหม็น และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคก็อาจจะขุดหลุมฝัง หรือไม่ก็เผา ก็แล้วแต่กรณี แต่ต้องขุดหลุมลึกอย่างน้อยความลึกเกิน 2 เท่าของความสูงของสัตว์”
...
ซาก “เสือดำ” ที่ถูกล่าโดยทีมเปรมชัย มีให้เลือกหลายช่องทาง
ทั้งนี้ หมอล็อต เอ่ยถึงกรณีที่เป็นซากสัตว์ป่าสำคัญว่าถ้าพิจารณาแล้วว่าซากเหล่านั้นเป็นซากที่หายาก มีความเหมาะสมในการเรียนรู้ในเชิงวิชาการ ก็สามารถนำซากนั้นไปรักษาไว้ได้ โดยนำไปสตัฟฟ์ ดอง นำไปทำประโยชน์เพื่อการศึกษา หรือวิจัยก็ได้ แล้วแต่กรณี
“อย่างกรณี เสือดำ ก็แล้วแต่วิจารณญาณของสัตวแพทย์ที่ดูแล ว่าจะยังเก็บหลักฐานอยู่ หรือจะต้องทำลาย ถ้าเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนมั่นใจว่ามีการเก็บหลักฐานเพียงพอทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องเก็บหลักฐานต่อ จะต้องทำลายด้วยวิธีไหน หรือต้องเก็บไว้เป็นประโยชน์ในอนาคตในเรื่องคดีความก็ต้องมีการรักษาสภาพ แช่ฟอร์มาลีน ก็แล้วแต่วิจารณญาณของสัตวแพทย์”
สัตว์ชนิดเดียวที่ทำพิธีทางศาสนาเหมือนคน คือ “ช้าง”
อีกหนึ่งประเด็นสงสัยว่า สัตว์ป่าที่ตายบางชนิด มีความเชื่อต้องทำพิธีทางศาสนา หรือพึ่งไสยศาสตร์หรือไม่ หมอล็อต ชี้ว่ามีเพียง 'ช้าง' เท่านั้นที่ทำพิธีทางศาสนาเหมือนคน
...
“กรณีความเชื่อเช่นนี้ อาจไม่ถึงกับวิธีทางไสยศาสตร์ แต่โดยความเชื่อ ความเคารพสัตว์ป่า โดยเฉพาะ 'ช้าง' ที่เราเชื่อว่าช้างเหมือนกับคน ใกล้เคียงกับคนมากที่สุดในความรู้สึกผูกพัน เพราะฉะนั้นเมื่อช้างเสียชีวิตก็มีการนิมนต์พระ 4 รูปมาสวดอภิธรรม แล้วก็ฝังทำลายซาก”
ซากสัตว์บางชนิด โครงกระดูก เป็นแหล่งแคลเซียมของสัตว์อื่นๆ
คนที่เดินป่า หากเห็นซากสัตว์ควรระวังหรือต้องทำอย่างไร กับคำถามสุดท้ายนี้ หมอล็อต ชี้แนะว่าเวลาเดินป่าแล้วเจอซากสัตว์เสียชีวิต สิ่งสำคัญคืออย่าไปจับ อย่าไปแตะต้อง เพราะไม่รู้ว่าสัตว์ชนิดนั้นตายด้วยเชื้อโรค หรือโรคระบาดติดต่ออะไรหรือเปล่า พร้อมแนะให้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เมื่อได้รับแจ้งก็จะมาพิสูจน์ดูว่า สัตว์ชนิดนั้นตายนานหรือยัง มีสาเหตุการตายจากอะไร การทำลายซากจะต้องทำแบบไหน หรือจะไม่ทำลาย
“ถ้ากรณีเจอซากสัตว์ เช่น กวาง ตายอยู่ แล้วเจอร่องรอยของเสือไปกินซาก ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่า ซากเหล่านี้เราจะไม่ทำลาย ไม่ไปเกี่ยวข้อง เพราะซากเหล่านี้ พอเสือกินเนื้อมันเกือบหมด พวกโครงกระดูกก็จะเป็นแหล่งแคลเซียมของพวกเม่น ชะมด อีเห็น สัตว์อื่นที่มากินกระดูกก็จะได้รับสารอาหารแคลเซียม เพราะฉะนั้นตัวซากสัตว์ถ้าไม่ได้ตายอย่างผิดปกติ ถ้าเจอในธรรมชาติ เราก็ปล่อย เพราะซากเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารของสัตว์กินซาก หมีก็มากินซากสัตว์ได้เหมือนกัน กินกระดูกเพื่อได้รับแคลเซียม หรือสารอาหารอื่นๆ เพราะฉะนั้นมันก็มีวิจารณญาณในการดำเนินการอยู่” หมอล็อต กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน