ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เผยถึงกรณีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้เปลี่ยนวิธีคิดคำนวณจัดเก็บภาษีใหม่จากผู้เลี้ยงโคนม โดยให้สิทธิหักต้นทุนการผลิตอัตราเหมาจ่ายน้อยลงกว่าเดิม จากที่เคยคิดหักต้นทุนการผลิตสูงถึง 85% ของรายได้จากการขายน้ำนม เปลี่ยนมาเป็นให้หักต้นทุนได้เพียง 60% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หลังหักต้นทุนเพิ่มขึ้น มีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าเดิมกว่า 2 เท่าตัว
ประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อหาวิธีช่วยเหลือและลดภาระให้กับเกษตรกร เบื้องต้นสรรพากรทำหนังสือ เวียนไปถึงเกษตรกรทั่วประเทศ แนะนำให้เกษตรกรนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายในฟาร์มที่ตรวจสอบและรับรองได้ว่าเป็นต้นทุนในการผลิตจริงนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จะสามารถหักลดหย่อนได้ แต่จะได้เพิ่มสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้หลังหักต้นทุนแบบเหมาจ่าย”
...
แต่กระนั้น ผอ.อ.ส.ค. บอกว่า การเรียกเก็บภาษีแบบใหม่ ยังมีหนทางที่เปิดช่องให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้เลย นั่นคือ เลี้ยงโคให้ได้น้ำนมมีค่ามาตรฐานโทเทิลโซลิก (ความเข้มข้นนม) 12.5% แต่น้ำนมที่มีค่าโทเทิลโซลิกในเกณฑ์นี้ จะเป็นโคนมสายพันธุ์เจอร์ซี่เท่านั้น จึงยังเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรไทยจะทำได้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยนำโคนมสายพันธุ์เจอร์ซี่มาพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราเลย
ส่วนกรณีปี 2564 ภาษีนำเข้านมผงเป็น 0% อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดเพราะจะมีการนำนมผงมาผลิตเป็นนมกล่องแทน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ชี้แจงว่า อ.ส.ค.วางมาตรการรับปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตลาดส่งออก แม้หลายคนจะมองว่า อ.ส.ค.คงทำการ ตลาดแข่งกับภาคเอกชนไม่ได้อย่างแน่นอน
“เรื่องนี้เราไม่กังวล เพราะที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์นมวัวแดง ใช้นมโคแท้ 100% มาแปรรูปสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ต่างกับเอกชนบางรายที่นำนมผงมาใช้เป็นส่วนผสม และล่าสุด อ.ส.ค.ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรแปรรูปน้ำนมที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย มาติดตั้งภายในโรงผลิตนม อ.ส.ค.คาดว่าจะเดินระบบการผลิตได้ในเดือน มีนาคมนี้”.