ฉาวอีก นักศีกษา ม.ดังอีสาน มาฝึกงาน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ร้อง ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารราชการ กรอกข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เอกสารผู้ติดเชื้อเอดส์ ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินนับพันชุดเป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาทเตรียมบุกไปพบบิ๊กตู่ ล้างบางทุจริตทั้งระบบ...
เวลา 11.00 น.วันที่ 8 ก.พ.61 นางน้อมจิตต์ ยศปัญญา อายุ 52 ปี พร้อมด้วย น.ส.ปนิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ภายหลังจากที่ได้มีการเรื่องร้องเรียนต่อเลขาธิการ คสช. และป.ป.ช.ขอนแก่น แต่ไม่มีความคืบหน้า เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากพบเห็นความไม่โปร่งใสในการทำงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นในเรื่องของเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และผู้ป่วยโรคเอดส์ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น
น.ส.ปนิดา ยศปัญญา กล่าวว่า ได้เข้ารับการฝึกงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ที่ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น พร้อมเพื่อนรวม 4 คน โดยมีระยะเวลาการฝึกงานตั้งแต่ 7 ส.ค.-7 พ.ย.2560 ซึ่งการฝึกงานจะต้องลงพื้นที่พบปะกับประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ปัญหาในชุมชน โดยช่วงที่เข้าฝึกงานนั้นจะมี เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เข้ามาดูแลในฐานะครูภาคสนาม แต่กลับถูกให้ทำงานเกี่ยวกับเอกสาร ถูกสั่งให้ กรอกข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และเอกสารของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยสั่งให้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินของเอกสาร ตามแบบ ที่ราชการกำหนด
...
"ในช่วงที่ฝึกงานนั้น ส่วนใหญ่จะได้นั่งทำงานที่บ้านพักส่วนตัวของ ผอ.ศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์ฯไปประมาณ 1 กม. ทำงานตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ โดยมี น้องสาว ผู้อำนวยการฯและเจ้าหน้าที่บางคน คอยกำกับดูแลทุกขั้นตอน จึงทำตามคำสั่งและทำการปลอมลายเซ็นชาวบ้านไปประมาณ 10 ราย ส่วนที่เหลืออีกเกือบสองพันรายนั้นไม่ได้ทำ หนูได้ถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมต้องปลอมข้อมูลชาวบ้านและปลอมลายเซ็น ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่และครูภาคสนามว่าให้ถือเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่เขียนหนังสือไม่ได้ ให้กรอกข้อมูลทั้งหมดด้วยตนเอง ทั้งแบบสำรวจ ใบสำคัญรับเงิน ซึ่งในช่วงของการฝึกงานนั้นได้มีการทำเอกสารไปกว่า 2,000 ราย ยอดเงินรวมกว่า 6,900,000 บาท โดยหนู ลงชื่อแทนชาวบ้านไปประมาณ 10 คน ส่วนเพื่อนๆ ที่มาฝึกงานด้วยกันนั้นไม่ทราบ แต่ทุกคนได้ทำเอกสารร่วมกัน จากนั้นจึงได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรม เริ่มรู้สึกว่าไม่โปร่งใส จึงไม่ทำตาม และขยำเอกสารที่เป็นลายมือตัวเองในการปลอมลายเซ็นชาวบ้านทิ้ง”
น.ส.ปนิดา กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากล จึงนำเรื่องไปบอกพ่อแม่ และคุณครู ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดกฎหมายและคนผิดคือตัวเราเอง จึงนำเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ร้องเรียนไปยัง เลขาธิการ คสช.และ ป.ป.ช. รวมทั้งการลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน แต่เรื่องไม่คืบหน้า เกรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองและเพื่อนนักศึกษาด้วยกันที่มาฝึกงาน จะได้รับผลกระทบจากการที่ทำเอกสารดังกล่าวและเรื่องนี้ได้นำเรียนต่อมหาวิทยาลัยฯและอาจารย์ที่รับผิดชอบการฝึกงานได้รับทราบแล้ว
"ที่หนูและครอบครัวและเพื่อนนักศึกษา มาร้องเรียนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกับสื่อมวลชนในครั้งนี้ เพราะต้องการอยากให้ประชาชนได้รับเงินจริง เฉพาะในช่วงที่หนูฝึกงานได้ทำเอกสารไปรวมกว่า 2,000 ราย ซึ่งในฐานะนักพัฒนาชุมชนแม้จะฝึกงานนั้น เงิน1,000-2,000 บาท คนที่ยากจนจริงๆ สามารถใช้งานได้เป็นเดือน และช่วยประทังชีวิตได้ในระยะหนึ่ง แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังดี ในข้อนี้หนูคิดในฐานะนักพัฒนาชุมชน ที่ศึกษามา และคิดในฐานะนิสิต เราทำผิดโดยที่ถูกบังคับ ถ้าเราไม่ทำก็จะไม่ผ่านในช่วงของการฝึกงาน ดังนั้นการที่ครอบครัว พาเข้าร้องเรียนในหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและต้องการเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดในการกระทำดังกล่าว และครอบครัวเตรียมขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งหมดแล้ว เพื่อส่งถึงมือท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเอาผิดกับผู้กระทำผิดในครั้งนี้ ตามนโยบายการปฏิรูปประเทศตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้”
ขณะที่ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 370/135 ม.21 ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้เข้าทำงานที่ศูนย์ฯแห่งนี้ ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ ในเดือน ต.ค.2558 จนกระทั่งมีการปรับตำแหน่งให้เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยสนับสนุนพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยได้รับมอบหมายในการทำงานเอกสารเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้นำเอกสารมาให้ทำ โดยมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากที่นักศึกษาต้องทำ คือเอกสารบางอย่างไม่มีมาประกอบ ไม่มีการลงลายมือชื่อ หรือเอกสารมาไม่ครบ ในระยะแรกยอมรับในการทำเอกสารเพราะเจ้านายสั่งลูกน้องต้องทำตาม แต่ต่อมาเริ่มเยอะขึ้น จำนวนเงินมากขึ้น และบางทีให้เอกสารเปล่า มาให้กรอกข้อมูลในเอกสารทางราชการ จึงเริ่มกังวลใจและเริ่มสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ผู้อำนวยการศูนย์ฯไปจนถึงคนนอกที่มารวมทำงานรวม 6 คน โดยบางคนมาสอนวิธีการปลอมลายมือชื่อ ด้วยการนำเอกสารไปส่องกระจกเพื่อให้ลายมือชื่อที่ตรงกันในการเบิกจ่ายเงินแต่ละครั้ง
...
"หนูไม่ทราบว่าเงินที่เบิกจ่ายไปนั้น ถึงมือผู้มีรายได้น้อยตามเงื่อนไข และระเบียบของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือไม่ แต่ที่ทำเอกสารนั้นไม่ถูกต้องเพราะให้เจ้าหน้าที่ทำกันเป็นขบวนการและขั้นตอนต่างๆ โดยที่หนูตัดสินใจกรอกเอกสารให้ผิดเพื่อให้กรมฯได้มาตรวจสอบ และเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้ตรวจกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีนิติกร มาทำการสอบปากคำแล้ว แต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2560 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของศูนย์ฯได้บอกเลิกจ้างหนูและเพื่อนอีก 2 คนรวม 3 คน ที่ฝ่าฝืนคำสั่งและไม่ทำตาม ให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม ขณะนี้หนูได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอนแก่น ฐานถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องในการไต่สวนในเดือน ก.พ.นี้ และเมื่อทราบถึงพฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการดังกล่าว ทั้ง 6 คน ที่ลามไปถึงนักศึกษาฝึกงาน จึงได้รวมกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอาผิดให้ได้"
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ล่าสุด ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า จะชี้แจงในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป.