กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้า "OTOP นวัตวิถี" ดึงภูมิปัญญา-วิถีชีวิต เพิ่มรายได้ชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 61 ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กรมการพัฒนาชุมชน จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำรายละเอียดโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีการจัดทำ Workshop ประชุมเชิงปฏิบัติการแบ่งกลุ่มตามเขตตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ออกเป็น 12 กลุ่ม เพื่อระดมสมอง ฝึกปฏิบัติ ปรับปรุงแนวทาง กิจกรรม กระบวนงานการขับเคลื่อนโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 6 กระบวนงาน ฝึกปฏิบัติการทำแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงการเขียนโครงการ ลงรายละเอียดตัวคูณ ตามแนวทางของสำนักงบประมาณ
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมขน กล่าวถึงความเป็นมาแนวคิดวิธีการดำเนินการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีว่า โอทอปเปรียบเป็นเหรียญสองด้าน ซึ่ง 16 ปีที่ผ่านมาในระบบเก่า เราทำอยู่ด้านเดียวคือ ด้านหัว คือ สินค้าโอทอปที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานของรัฐ โดยผ่านการคัดสรรสุดยอดโอทอป ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวน 15,000 ราย แต่เรามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอยู่ 8 หมื่นกว่าราย ทำให้มีสินค้าโอทอปที่ตกเกณฑ์ถึง 7 หมื่นราย ต่อจากนี้เราจะเริ่มทำเหรียญด้านที่สอง คือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นแนวคิดพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ โดยให้ขายสินค้าอยู่ภายในชุนชน เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาแปลงเป็นรายได้ ทำให้รายได้กระจายอยู่ภายในชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ทุกคนพร้อมเป็นเจ้าบ้าน ทำให้ลูกหลานไม่ต้องออกไปหารายได้จากภายนอกชุมชน ซึ่งแตกต่างจาก OTOP เดิม ที่ต้องนำสินค้าออกไปขายนอกชุมชน และทุกอย่างขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ
...
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท กับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยจะคัดเลือกจากชุมชนที่มีศักยภาพใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ อำเภอละ 3-5 แหล่งท่องเที่ยว พร้อมเข้าไปสร้างความเข้าใจกับชุมชน ทั้งช่วยวิเคราะห์ เสน่ห์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ของชุมชนนั้น กำหนดเส้นทางท่องเที่ยว ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการค้าต่อนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ คือ พิจารณาศักยภาพของชุมชน ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว ต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรมเป็นต้น พิจารณาถึงการเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวหลัก คือ 22 เมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยวรอง คือ 55 เมืองรอง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเล็ก คือ ชุมชนท่องเที่ยวที่มีกิจกรรม สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่ส่งเสริมกัน การดำเนินการต้องไม่เริ่มจากศูนย์ โดยสามารถต่อยอดจากหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวได้ หรือต่อยอดหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสุนนจาก อพท. เป็นต้น ต้องเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอป มีจุดขายที่เป็นเสน่ห์ เช่น ลักษณะทางธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ภูเขา มีประวัติ และตำนาน ต้องมีความเข้มแข็งของชุมชน มีการจัดทำแผนธุรกิจ ปฏิทินท่องเที่ยวของชุมชน ที่ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผลอย่างยั่งยืน