การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (Promotion and Prevention, P&P) ในการนิยามความหมายของ “การป้องกันโรค” มักให้นิยามกิจกรรมการป้องกันโรคครอบคลุมรวมตั้งแต่กิจกรรมที่ดำเนินการก่อนเกิดโรค (primary prevention) เกิดโรคแล้ว แต่ยังไม่เกิดอาการ (secondary prevention) หรือเกิดอาการแล้ว (tertiary prevention) ก็ได้ โดยแต่ละช่วงจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และยังขึ้นอยู่กับการที่โรคนั้น เกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ดังนี้
Primary prevention ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้มี สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน (healthy environment) การส่งเสริมให้ ร่างกายมีความต้านทานต่อโรคต่างๆ และการส่งเสริมให้ ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม (healthy behaviors) โดยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน หมายถึง การสุขาภิบาลพื้นฐาน คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลพิษ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม
ทั้งที่บ้าน ชุมชนที่อาศัย ที่ทำงาน และสังคมโดยรวม ส่วน healthy behaviors หมายถึง การส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมด้านต่างๆที่เหมาะสม โดยให้ประชาชนเป็นผู้สร้างเสริม สุขภาพของตนเอง (health promotion) ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพ health promotion) ก็เป็นส่วนหนึ่งของ primary prevention นั่นเอง และในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและบูรณาการ และโดยทั่วไป กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก
นอกจากนั้นยังควบคุมรวมถึงการให้ ป้องกันด้วยการให้วัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่ให้ในขณะที่เกิดโรคระบาดขึ้นใหม่โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ เป็นต้น
Secondary prevention เป็นการป้องกันในระยะที่โรคได้เกิดขึ้นแล้ว วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการป้องกันโรคในระยะนี้ ในส่วนของโรคติดเชื้อคือ การระงับกระบวนการดำเนินของโรค การป้องกันการแพร่เชื้อและระบาดของโรคไปยังบุคคลอื่น หรือชุมชนอื่น โดยมุ่งเน้นการคัดกรองโรคเพื่อให้พบโรคโดยเร็วที่สุดก่อนที่จะมีอาการ และให้การรักษาโดย
...
ทันที โดยเชื่อว่าการค้นพบโรคในระยะแรกและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีจะมีผลการรักษาที่ดีกว่าโรคที่สามารถดำเนินการคัดกรองได้ ยังรวมถึงโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และจะต้องเป็นโรคที่มีระยะเวลาก่อนแสดงอาการของโรคที่สามารถตรวจพบได้นานพอสมควร (Detectable preclinical phase) หรือเป็นโรคที่มีระยะที่ไม่แสดงอาการของโรคนานหรือ asymptomatic carrier stage และมีเครื่องมือที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับในการคัดกรองดังกล่าว เช่น โรคมะเร็ง ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น
Tertiary prevention มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความสูญเสียจากโรคนั้น เช่น ป้องกันความพิการ หรือการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การป้องกันการเกิดโรคซ้ำ (recurrence) เช่น ในผู้ป่วยที่มีหัวใจวาย acute myocardial infarction การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ (recurrent infarction) ถือเป็น tertiary prevention ประการหนึ่ง
ในกรณีที่ระบบการตรวจคัดกรองในโรคไม่ติดต่อไม่มีประสิทธิภาพพอ ความหมายของ Secondary prevention จะเริ่มที่การพยายามป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำเส้นเลือดตีบตันทั้งในหัวใจและในสมอง เป็นต้น หลังจากที่เกิดโรคครั้งแรกแล้ว
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ในปัจจุบันการพยายามแบ่งงานเป็นโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเริ่มมีปัญหาเรื่องความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย เนื่องจาก โรคไม่ติดต่อบางอย่างก็มีสาเหตุมาจากโรคติดต่อ (เช่น โรคติดต่อบางชนิดเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่างๆได้) ในขณะเดียวกัน ความป่วยไข้จากโรคไม่ติดต่อบางชนิดก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อโรคติดต่อได้ เช่น ในกรณีไข้หวัดใหญ่ที่พบว่าผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางโรคจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ โรคติดต่อที่ไม่รุนแรงก็เป็นตัวกระพือให้โรคไม่ติดต่อบางอย่างมีความรุนแรงมากขึ้นได้เช่นกัน เช่น การป่วยด้วยโรคติดต่ออาจทำให้ผู้ที่ขาดวิตามิน บี 1 หรือ thiamine แสดงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหัวใจล้มเหลวได้ และโรคไม่ติดต่อเช่นที่เกิดจากกินสมุนไพรหรือยาชุดที่ปนเปื้อนด้วยสเตียรอยด์เมื่อเกิดติดเชื้อด้วยเชื้อไม่รุนแรงกลับเกิดมีอาการช็อกเสียชีวิตได้จากการที่ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน
ภาวะดังกล่าวข้างต้นถือเป็นภาวะที่ชุกชุมมาก มีคนไทยต้องพิการและเสียชีวิตมากในช่วงระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น การขีดเส้นแบ่งของการทำงานระหว่างโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อนับวันจะสร้างปัญหาในการทำงานมากขึ้น การทำงานระหว่างโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อต้องการการบูรณาการการทำงานมากขึ้น ต้องการการประสานความร่วมมือกันมากขึ้น นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์โดยมีการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อจะยิ่งช่วยให้การทำงานด้านโรคไม่ติดต่อมีความเข้มแข็งทัดเทียมการทำงานด้านโรคติดต่อได้ในอนาคต
โรคติดต่อมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ นับวันปัญหาโรค
ไม่ติดต่อเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรคติดต่อแม้จะมีปัญหาน้อยลง แต่กลับส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศได้รุนแรงมากขึ้น ดังเช่น การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก หรือการระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น ในปัจจุบันหลายประเทศ (รวมถึงสหรัฐอเมริกา) นับว่าการป้องกันควบคุมโรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตรายเป็นการทำงานด้านความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน
...
ในส่วนของประเทศไทย การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเพื่อให้สามารถรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด เป็นประเด็นที่จะต้องเร่งรัดพัฒนา (ปฏิรูป) โดยเร่งด่วนเช่นกัน.
หมอดื้อ