โอดถูกเก็บภาษีโรงเรือนโหดไม่เป็นธรรม ชงสช.ประสานช่วยเหลือ
ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) จังหวัดทั่วประเทศ ตนได้มอบแนวทางการทำงานให้กับ ปส.กช.ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการบูรณาการการจัดการศึกษา ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อีกทั้งยังต้องเป็นผู้คอยเสนอแนะกับผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนเอกชน ผู้จัดการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ ในที่ประชุม ปส.กช.ได้มีข้อเสนอแนะกับตนว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนประมาณ 200-300 แห่ง
ในจำนวนดังกล่าว มีทั้งโรงเรียนสามัญทั่วไป โรงเรียนมูลนิธิการกุศล โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนมูลนิธิของวัด โรงเรียนสอนศาสนาในภาคใต้ ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างโดดเด่น แต่กลับได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐน้อยกว่าโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2-3 เท่า เช่น โรงเรียนของ สพฐ.เด็กได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 40,000 บาทต่อคนต่อปี
ขณะที่โรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาได้รับการสนับสนุนเพียง 15,000 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษาได้รับการสนับสนุน 13,000 บาทต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นว่ารัฐลงทุนกับโรงเรียนเอกชนเหล่านี้น้อยมาก แต่เด็กกลับมีคุณภาพ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดี จึงอยากให้ภาครัฐหันมาลงทุนกับโรงเรียนเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้การสนับสนุนปัจจัยเสริม เช่น เรื่องอาหารกลางวันที่เด็กโรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุนเพียง 28% เท่านั้น ขณะที่เด็กโรงเรียนรัฐเด็กรวยเด็กจนได้รับอุดหนุนเรื่องนี้ 100%
ดร.พะโยม กล่าวด้วยว่า ปส.กช.ยังแจ้งให้ทราบถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนจำนวนมากอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยดูแลเรื่องภาษีโรงเรือนและสิ่งก่อสร้าง เพราะบางโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมืองที่มีอัตราค่าภาษีสูง แต่ละปีต้องจ่ายภาษีในอัตราที่แพงมาก ขณะที่บางแห่งมีเด็กเรียนจำนวนไม่มาก จึงไม่เป็นธรรมกับโรงเรียนกลุ่มนี้ อีกทั้งเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นตัวกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางช่วยเหลือต่อไป.
...