ทันทีที่ผู้หญิงอย่างเราๆ รู้ตัวว่าจะมีชีวิตน้อยๆ มาอยู่ในตัวเราอีกคน ว่าที่คุณแม่ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกน้อยออกมาเป็นเด็กที่แข็งแรงสมบูรณ์ ฉลาด ซึ่งวิธีการเริ่มแรกสำคัญมาก และทำได้ไม่ยากเลยก็คือ การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพราะอาหารของลูกก็ได้จากอาหารของแม่ในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและสมองให้ลูก ลูกของเราจะเติบโตเป็นเด็กที่ฉลาด แข็งแรง สมวัย หากได้รับการดูแล และเตรียมการตั้งแต่อยู่ในท้อง
กินเท่าไรจึงจะพอสำหรับลูก
ถ้าน้ำหนักคุณแม่เพิ่มได้ถูกต้องระหว่างตั้งครรภ์ลูกก็จะได้อาหารพอ และควรจะเพิ่มเท่าใด ดูได้จากดัชนีมวลกายของคุณแม่ โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมตั้ง หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ค่าปกติจะอยู่ที่ 18.5-24.9 กก./ม.2
คุณแม่ที่มีค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 กก./ม.2 น้ำหนักควรเพิ่ม 12-18 กิโลกรัม
คุณแม่ที่มีค่า BMI ระหว่าง 18.5-24.9 กก./ม.2 น้ำหนักควรเพิ่ม 11-16 กิโลกรัม
คุณแม่ที่มีค่า BMI ระหว่าง 25.0-29.9 กก./ม.2 น้ำหนักควรเพิ่ม 7-11 กิโลกรัม
คุณแม่ที่มีค่า BMI 30.0 กก./ม.2 หรือมากกว่า น้ำหนักควรเพิ่ม 5-9 กิโลกรัม

...
พลังงานที่ควรได้รับ
ถ้าก่อนท้องแม่น้ำหนักปกติ ช่วง 3 เดือนแรก กินอาหารที่มีประโยชน์ แต่พลังงานเท่าเดิม น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์ ถ้ากินไม่ได้ตามนี้ ให้กินเป็นมื้อเล็กๆ มากขึ้น และเน้นคุณภาพ
ช่วง 4-6 เดือน เพิ่มพลังงานอีกวันละ 300-350 กิโลแคลอรี/วัน เช่น นมสด 2 แก้ว
ช่วง 7-9 เดือน เพิ่มพลังงานอีกวันละ 500 กิโลแคลอรี/วัน
แต่ถ้าท้องแฝดต้องกินเพิ่มอีก 300 กิโลแคลอรี
ถ้าคุณผอม สามารถกินอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มได้อีก แต่ถ้าคุณมีน้ำหนักเกิน พยายามควบคุมพลังงาน เน้นกินแต่อาหารที่มีคุณภาพ

ลูกเราจะฉลาดได้อย่างไร
• 50% มาจากกรรมพันธุ์ ไอคิวของลูกประมาณ 50% ได้มาจากพ่อแม่ ส่วนอีก 50% มาจากการเรียนการสอน ควรเลือกโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนที่มีระบบ จะเป็นการสร้างรากฐานด้านการศึกษาที่ดีให้ลูก หรือบางวิชาคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องมาสอนเสริมเองที่บ้าน โดยพิจารณาจากความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาของลูก
• อาหาร สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 24-42 สารอาหารที่ได้รับมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมอง หากเด็กขาดสารอาหาร การสร้างสมองส่วนต่างๆ ก็จะไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถฟื้นฟู หรือซ่อมแซมได้ในภายหลัง และอาหารช่วง 3 ขวบแรก มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของลูกเรา
สารอาหารทั้งหมดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและการพัฒนา ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ที่สำคัญมาก เช่น โปรตีน เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม ไอโอดีน โฟเลต วิตามินเอ โคลีน และโอเมก้า-3
------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
รศ.ดร. ปรียา ลีฬหกุล กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล