ไทยมีโอกาสได้ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายแล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงนำคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าหารือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันกำหนดพื้นที่ในโครงการปลูกกัญชา โดยเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันที่จะใช้พื้นที่นำร่องในจังหวัดสกลนคร จำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ทหาร เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย พร้อมทั้งตั้งกรรมการควบคุมเพื่อป้องกันการหลุดรอด

นายประพัฒน์กล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนด โดยครั้งนี้ที่เลือกจังหวัดสกลนคร เนื่องจากเป็นต้นน้ำ และเทือกเขาภูพานยังเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุด โดยในปัจจุบันภายในป่าเทือกเขาภูพานยังมีต้นกัญชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ถึงแม้จะมีกฎหมายหวงห้าม อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 10 ก.พ.นี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ โดยมอบให้สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนครคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณภาพมาเข้าร่วมในโครงการ

“เกษตรกรที่จะเข้าร่วมทำโครงการ ต้องมีหลัก ปฏิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงเกษตรกรต้องไม่นำไปใช้ผิดประเภท เนื่องจากจะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติและจะมีผลกระทบต่อโครงการที่พยายามทำให้พืชกัญชาและกระท่อมเพื่อให้แพทย์สามารถจะใช้เป็นยารักษาโรคได้” นายประพัฒน์กล่าวและว่า ถึงประเทศไทยจะเริ่มต้นโครงการช้า แต่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตมากและศักยภาพสูงกว่าหลายประเทศ เนื่องจากต้นทุนถูกกว่า เพราะไม่ต้องปลูกกัญชาในโรงเรือนเหมือนอย่างต่างประเทศ และกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน เมื่อปลูกในประเทศที่อยู่ในเขตร้อน ตัวยาจะมีสรรพคุณทางยาที่ดีและปริมาณความเข้มข้นสูงกว่าหลายประเทศ

...

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถาม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ถึงเรื่องการปลูกกัญชาถูกกฎหมาย ก็ได้รับคำตอบว่า เบื้องต้นในเรื่องของกัญชานั้น เท่าที่ทราบขณะนี้ยังเป็นการนำมาใช้เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับยารักษาโรคเท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องศึกษาในรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากกัญชายังถือเป็นยาเสพติด ส่วนการปลูกกัญชา ตนยังไม่ทราบ เพราะ สธ.จะดูแค่เรื่องการทำวิจัยทางยาเท่านั้น