ต้าถัง บริษัทยักษ์จีน สร้างเขื่อนปากแบง ควงอธิบดีพลังงานลาว ถกกลุ่มรักษ์เชียงของ รอง ผบก.ภาค 5 รอง ศปปข. ร่วมสังเกตการณ์ หลังทางกลุ่มฯ ร้องศาลปกครองเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน ท้วงติงการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง...
วันที่ 15 ม.ค. นายจันแสวง บุญยง อธิบดีกรมนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว พร้อมด้วย นายจางเชา รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไชน่า ต้าถัง โอเว่อซีซ์ อินเวสเม้นท์ จำกัด นายเติ้งโบ ผู้จัดการ บริษัท ต้าถัง (ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบง จำกัด ร่วมประชุมหารือกับ นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และนายชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเวทีการพูดคุยเจรจากรณีเขื่อนปากแบงครั้งที่ 1 ณ โฮงเฮียนแม่น้ำโขง บ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย หลังประชาชนไทยทักท้วงเรื่องผลกระทบเขื่อนปากแบง โดยมี พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ร่วมสังเกตการณ์
ในที่ประชุมได้หารือเรื่องการของผลกระทบข้ามพรมแดน เขื่อนปากแบงที่มีใกล้พรมแดนไทย ประมาณ 90 กม. แนวทางแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน บริษัท ต้าถัง (ลาว)ฯ ผู้ได้รับสิทธิดำเนินโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ประเด็นหลักที่พูดคุยคือ เรื่องทางผ่านของปลา และระดับน้ำที่เอ่อท้นมาที่แก่งผาได บ.ห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น และการระบายตะกอน
นายจันแสวง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องทางเดินของปลาผ่านบริษัทปรับปรุงแบบเบื้องต้น หลังจากมีข้อท้วงติงแล้ว โดยลดระยะทางเดินของปลา ลดความชัน และทำที่พักปลา ระหว่างว่ายทวนน้ำ จะมีการตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับด้านการประมงร่วมกับนานาชาติ จีน ลาว และไทย เพื่อศึกษา ขณะนี้มีการติดกล้องเพื่อจับดูการอพยพของปลา เรื่องนี้อาจลดผลกระทบโดยเพาะพันธุ์ปลา เพื่อปล่อยเหนือเขื่อนด้วยเป็นแผนเบื้องต้น
...
ส่วนประเด็นเรื่องน้ำเอ่อท้นมาที่แก่งผาได ทางลาวรับประกันว่าจะสร้างโมเดลคำนวณการระบายของน้ำ ไม่ให้น้ำไม่เกิน 340 เมตร เป็นระดับที่ทำให้น้ำโขงไม่เอ่อท่วมถึงแก่งผาได ลดจากเดิมที่จะทำในระดับ 350 เมตร ที่จะมีผลกระทบมาถึงเขต อ.เวียงแก่น ในเรื่องการระบายตะกอนหน้าเขื่อนนั้น เนื่องจากเขื่อนนี้ไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนจีนตอนใต้ จึงไม่กักเก็บตะกอน จะระบายตะกอนได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่เป็นปัญหา
นายจาง เชา กล่าวว่า เขื่อนปากแบงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาของแม่น้ำโขง ในฐานะผู้ปฏิบัติการโครงการตามยุทธศาสตร์ของความร่วมมือกัน ให้ได้ผลประโยชน์ประชาชนและรัฐด้วยกัน ให้ความสำคัญกับกฎหมายและจารีตของต่างประเทศด้วย โดยจะนำเรื่องของเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ภายใต้ความช่วยเหลือของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้โครงการมีความก้าวหน้า สำหรับข้อสงสัยเสนอวันนี้ หลังจากที่เดินทางกลับจะปรึกษากันอีกภายใน จะมีมาตรการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นห่วงหรือกังวล
อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ในเรื่องของการเดินทางของปลาจากที่ศึกษาเขื่อนไซยะในลาว พบว่า การเดินทางผ่าน 1 แสนตัวต่อ 1 ชั่วโมง ขณะที่การเดินทางปลาของปลาในแม่น้ำโขงจะมี 3 ล้านตัวต่อชั่วโมง การสร้างเขื่อนที่มีผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงที่เกิดขึ้น ต้องคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตด้วย ขณะที่โลกมีพลังงานทางเลือกอื่น
"การพูดคุยวันนี้เป็นเพียงการจัดเวทีแรก ยังมีหลายประเด็นที่ต้องลงรายละเอียดเพราะข้อมูลไม่ตรงกัน ต้องลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเปรียบเทียบ เพราะขณะนี้การอธิบายของผู้แทนลาวและบริษัทจีน ยังเป็นเพียงโมเดลศึกษา แต่การพบปะเจรจาครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีและมีความสำคัญ เป็นมิติใหม่และเป็นครั้งแรกที่มีทั้งบริษัทใหญ่และตัวแทนจากรัฐบาลลาว และกรมทรัพยากรน้ำ มาร่วมแลกเปลี่ยนและคาดหวังสร้างความต่อเนื่อง โดยจะติดตามผลการประชุมและสร้างเวทีคู่ขนานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคจากภาคประชาชนต่อไป".