ในร่างกายของคนเรานั้น ระบบต่างๆ ของอวัยวะล้วนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว ก็จะเกิดอันตรายกับร่างกายของคนคนนั้น ซึ่งในระบบไหลเวียนโลหิต “หลอดเลือดดำ (vein)” มีหน้าที่หลักคือการขนส่งเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ หากหลอดเลือดดำเกิดการอุดตันจากการมีลิ่มเลือดอุดตันขึ้นในหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะหากเกิดการอุดตันในอวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือดปอดอุดตัน และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงเป็นอีกโรคที่เราควรทำความรู้จักให้มากขึ้น

โรคหลอดเลือดดำอุดตัน คืออะไร

“โรคลิ่มเลือดอุดตัน” คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดไปขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำของร่างกาย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณ และมักเกิดขึ้นที่บริเวณขา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงของขาข้างนั้นๆ ตั้งแต่น่องจนมาถึงต้นขาได้

ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำยังสามารถไหลเวียนไปส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น ปอด และทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หรือไอเป็นเลือด เป็นต้น ผู้ป่วย 30% จะเสียชีวิตทันที ดังนั้นหากมีอาการ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันอาจเกิดขึ้นที่อื่นๆ ภายในร่างกาย เช่น ในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง, ในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียนหรือชัก, ที่แขน ทำให้แขนบวม เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดมีแนวโน้มที่เลือดจะแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ

ผู้ที่อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารรถยนต์ เครื่องบินที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายๆ ชั่วโมง หรือผู้ที่ทำงานออฟฟิศนานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่าทาง

ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หญิงตั้งครรภ์ คนที่กินยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด คนไข้ที่ต้องนอนติดเตียง และคนที่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย

...

การรักษา

แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยช่วงแรกจะต้องใช้ยาแบบฉีด เพื่อจะได้ออกฤทธิ์ทันที หลังจากนั้นเมื่ออาการค่อยๆ ดีขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทาน


ปัจจุบันมียาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานชนิดใหม่ (NOACs) ที่ออกฤทธิ์เร็ว บางชนิดไม่จำเป็นต้องเริ่มรักษาด้วยยาแบบฉีด ส่วนระยะเวลาในการรักษานั้นจะขึ้นกับสาเหตุและตำแหน่งของหลอดเลือดดำอุดตัน

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการหกล้ม อุบัติเหตุ กีฬาที่มีการกระทบกระแทก หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ระดับยาต้านการแข็งตัวของเลือดมากขึ้นหรือลดลงได้ และหากมีเลือดออกผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกัน

ผู้ป่วยบางส่วนเราสามารถป้องกันได้ เช่น ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนานๆ ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน แพทย์จะให้ยาป้องกันไว้ก่อนอยู่แล้ว

ส่วนผู้ที่ต้องเดินทางไกล ควรลุกขึ้นยืนเดินทุกๆ 2 ชั่วโมง ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะจะทำให้เลือดอุดตันได้เช่นกัน หากไม่สามารถลุกเดินได้ ก็ควรมีการบริหารขา เช่น การเหยียดขา ขยับปลายเท้าขึ้นเอง บีบนวดกล้ามเนื้อเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนที่ดี

แม้ว่า “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน” จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีความอันตราย และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค และหากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


------------------------------------------------------------------------


แหล่งข้อมูล

พญ.พิจิกา จันทราธรรมชาติ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล