มาพบกับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน เป็นประจำในช่วงท้ายปี สำหรับบรรดาสาวกผู้ชื่นชอบข่าวในแวดวงวิทยาศาสตร์โลก ในปี 2560 ที่ผ่านพ้นไป จะมีอะไรที่น่าสนใจ หรือเป็นที่น่าจดจำทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย

หรือบางเรื่องอาจมีผล..ต่อความก้าวหน้าของโลกสีน้ำเงินของเราต่อไปในอนาคต ในแบบที่ทุกท่านคาดไม่ถึง    

และแน่นอน จะมีผู้ใด...ที่จะสามารถนำเสนอเรื่องยากๆ แบบวิทยาศาสตร์ ให้สามารถย่อยสลายจนเข้าใจได้ง่าย ไปกว่า...

คอลัมนิสต์ขาประจำของไทยรัฐออนไลน์ และกูรูวงการวิทยาศาสตร์ไทย อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กันล่ะ 

10 ข่าวเด่นของวงการวิทยาศาสตร์โลกในปีที่ผ่านมา ในตอนแรกนี้ ที่น่าสนใจก็มีทั้ง...

การค้นพบสาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่าง แมมมอธ

คนจีน กลายเป็นคนที่ขยันเดินที่สุดในโลก เพราะสมาร์ทโฟน 

ประเทศเล็กๆ อย่าง ลักเซมเบิร์ก จู่ๆ ก็ออกกฎหมายส่งเสริมการทำเหมืองบนดวงจันทร์ 

การคว้ารางวัลโนเบล ของผู้ค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง  

และการเสียชีวิตของนักเขียนผู้เป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์โลก 

เอาละ เกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ไปฟังเลกเชอร์จากปลายปากกาของ อ.ชัยวัฒน์ กันเลยดีกว่า 

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

...

ในการคัดสรร และจัดอันดับ 10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ประจำปี ที่ผู้เขียนได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นเวลากว่าสิบปี ผู้เขียนพยายามมองความเคลื่อนไหวในเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้ครบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยี โดยโฟกัสที่กลุ่มใหญ่ๆ คือ ทางด้านอวกาศและดาราศาสตร์, ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ, ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ และ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบสำคัญต่อสังคมมนุษย์

ด้วยหลักการนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องคัดเลือกเรื่องบางสาขา ด้วยความค่อนข้างลำบากใจ ดังเช่น เรื่องทางด้านอวกาศและดาราศาสตร์ เพราะมีเรื่องมีข่าวในรอบปีมากมาย ที่แน่นอนคือ มากกว่าเรื่องและข่าวทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จึงจำเป็นต้องตัดหลายเรื่องทางด้านอวกาศและดาราศาสตร์ออก เพื่อให้ได้เรื่องและข่าวทางด้านอื่นๆ อย่างสมดุลด้วย

ในการคัดสรรข่าววิทยาศาสตร์ทั้งหมดในรอบปี ผู้เขียนก็ให้ความสำคัญทั้งเรื่องและข่าวในระดับโลก กับในประเทศไทย แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ทำให้เรื่องและข่าวที่เกี่ยวกับไทยน้อยกว่า สำหรับปี 2560 ข่าวใหญ่ที่สุดที่เป็นเรื่องของประเทศไทยโดยตรง ก็คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักวิจัยและพัฒนาของปวงชนชาวไทย และเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลก โดยเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ และสมพระเกียรติ

ในการจัดอันดับความสำคัญของข่าวทั้ง 10 ข่าว ก็ดังเช่นปีก่อนๆ คือ 3 ข่าวแรก ผู้เขียนจัดอันดับความสำคัญของข่าวอย่างตั้งใจ ส่วนข่าวที่ 4 ถึง 10 ผู้เขียนก็ได้จัดอันดับความสำคัญเช่นกัน แต่เป็นการจัดอันดับความสำคัญอย่างไม่เคร่งครัดเท่า 3 ข่าวแรก

อันดับที่ 10. ไบรอัน อัลดิสส์ ลาโลก วงการนิยายวิทยาศาสตร์

วันที่ 19 สิงหาคม 2560 วงการนิยายวิทยาศาสตร์โลก สูญเสียนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยกับ ไอแซก อาซิมอฟ และ อาเทอร์ ซี. คลาร์ก ซึ่งก็คือ ไบรอัน อัลดิสส์ (Brian Aldiss) ชาวอังกฤษ ขณะมีอายุ 92 ปี

ไบรอัน อัลดิสส์ เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ นักเขียนบทความวิทยาศาสตร์ บรรณาธิการสารานุกรมนิยายวิทยาศาสตร์ และกวี มีผลงานการเขียนเป็นเล่มกว่า 80 เล่ม เรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์ ประมาณ 300 เรื่อง เรื่องเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา คือ เรื่องสั้น "Super–Toys Last All Summer Long" เป็นต้น เรื่องที่มาของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ A.I. Artificial Intelligence ออกฉายปี พ.ศ. 2544 สร้างและกำกับโดย สตีเวน สปิลเบิร์ก จากบทภาพยนตร์โดย สแตนลีย์ คูบริกส์ ผู้เขียนบท ผู้สร้าง และกำกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คลาสสิก 2001 : A Space Odyssey

ก่อนการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และงานเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างเป็นอาชีพ ไบรอัน อัลดิสส์ มีประสบการณ์การเป็นทหาร ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในสมรภูมิพม่า

...

ไบรอัน อัลดิสส์ มีแววจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังอาชีพขายหนังสือในออกซ์ฟอร์ด เขาก็เริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพ

ไบรอัน อัลดิสส์ มีผลงานนิยายวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลสำคัญหลายเล่ม งานเขียนที่เด่นมากของไบรอัน อัลดิสส์ นอกเหนือไปจากนิยายวิทยาศาสตร์ คือ การเป็นบรรณาธิการหนังสือประเภทรวมเรื่องสั้น สารานุกรม และประวัติพัฒนาการของนิยายวิทยาศาสตร์

ผลงานของเขาได้รับรางวัลฮิวโก 2 เล่ม คือ Hot house ปี พ.ศ. 2505 และ Trillion Year Spree ปี พ.ศ. 2530 ได้รับรางวัลเนบิวลา หนึ่งเล่ม คือ The Saliva Tree : And Other Strangle Growth ปี พ.ศ. 2508

ไบรอัน อัลดิสส์ ได้รับแรงบันดาลใจจากบิดานักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของโลก เอช. จี. เวลล์ และตัวเขาก็มีทั้งบทบาท และเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการนิยายวิทยาศาสตร์ ทั้งในอังกฤษ และทั่วโลก

อันดับที่ 9. นักฟิสิกส์ผู้ค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง คว้ารางวัลโนเบล 

เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาการประกาศผลรางวัลโนเบลทุกสาขา รวมทั้งสาขาฟิสิกส์ สำหรับปี พ.ศ. 2560 ก็มีการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2560 และก็เป็นไปตามคาดกันคือ เป็นนักฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง แต่ที่ตั้งตารอกันคือ จะเป็นนักฟิสิกส์คนใด โดยเฉพาะคนที่จะแทน "ตัวเก็ง" ที่เกิดหมดสิทธิ์ไปก่อนการประกาศผล โดยวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ราชสภาสวีเดน (The Royal Swedish Academy) ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ. 2560 มีผู้ได้รับรางวัล 3 คน คือ ไรเนอร์ ไวส์ (Reiner Weiss), แบร์รี ซี. บาริช (Barry C. Barish) และ คิป ทอร์น (Kip Thorne) สำหรับผลงาน "การมีส่วนร่วมที่สำคัญของเครื่องตรวจจับไลโก และการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง"

...

การประกาศการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นข่าวใหญ่สำคัญของแวดวงฟิสิกส์ ที่ต้องรอกันถึง 100 ปี จึงตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง เป็นการยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ ไอน์สไตน์ ที่ได้พยากรณ์เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 หลังการตั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป 1 ปี

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 มีการคาดกันว่า รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จะต้องเป็นของนักฟิสิกส์ผู้เกี่ยวข้องกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง แต่เมื่อมีการประกาศผลออกมา ก็ไม่มีชื่อของนักฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง

แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผู้ที่ติดตาม และทราบกระบวนการคัดเลือกผู้สมควรจะได้รับรางวัลโนเบลแต่ละปี ก็จะไม่ประหลาดใจ และคาดกันต่อมาว่า น่าจะเป็นปี พ.ศ. 2560 ที่รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ควรจะได้แก่นักฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง และก็มีการคาดกันว่า มีนักฟิสิกส์ 3 คนที่สมควรจะได้รับ จากจำนวนนักวิทยาศาสตร์ ประมาณ 800 คน ที่มีส่วนร่วมในการทำงานกับเครื่องตรวจจับไลโก และการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง

...

ต่อมา ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 นักฟิสิกส์ 3 คน ที่เป็นตัวเก็ง ก็มีคนหนึ่งหมดสิทธิ์ไป เพราะเสียชีวิตไปก่อน คือ โรนัลด์ เดรเวอร์ (Ronald Drever) ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2560 วงการวิทยาศาสตร์จึงรอดูกันว่า นักฟิสิกส์ที่ทำงานเกี่ยวกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง จะได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2560 หรือไม่ ถ้าได้จะได้กี่คน และถ้าเป็น 3 คนตามคาด จะมีใครได้รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ แทน โรนัลด์ เดรเวอร์

ถึงวันประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า ผลออกมาตามคาดคือ เป็นนักฟิสิกส์ที่ทำงานเกี่ยวกับการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง จำนวน 3 คน โดย 2 คนก็ตรงตามที่คาดคือ ไรเนอร์ ไวส์ และ คิป ทอร์น ส่วนคนที่ได้รับรางวัลโนเบล แทน โรนัลด์ เดรเวอร์ คือ แบร์รี ซี. บาริช ซึ่งก็เหมาะสมอย่างยิ่ง

การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง เป็นการค้นพบที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดดาราศาสตร์ สาขาใหม่ คือ "ดาราศาสตร์คลื่นความโน้มถ่วง" หรือ "Gravitational Wave Astronomy"

อันดับที่ 8. กฎหมายอวกาศส่งเสริมการทำเหมืองนอกโลกของลักเซมเบิร์ก

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ประเทศลักเซมเบิร์ก ประกาศใช้ กฎหมายอวกาศ ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนโดยเอกชน เพื่อแสวงหาทรัพยากรในอวกาศ ดังเช่น การทำเหมืองบนดวงจันทร์ และบนดาวเคราะห์น้อย

ลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศเล็กที่สุดในยุโรป มีประชากรเพียงประมาณ 600,000 คน แต่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีเป้าหมายสูงในการเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจของโลก โดยล่าสุด ประกาศตนเป็นประเทศผู้นำทางในยุโรป ส่งเสริม และสนับสนุนการทำเหมืองโดยเอกชนอย่างเป็นธุรกิจในอวกาศนอกโลก ด้วยการออกกฎหมายอวกาศ (Space Law) สำหรับการสำรวจ และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในอวกาศ (The Exploration and Use of Space Resources) มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 สิงหาคม 2560

กฎหมายอวกาศ ของลักเซมเบิร์ก มีสาระหลัก และเป้าหมายคล้ายกฎหมายอวกาศ ฉบับปี ค.ศ. 2015 (USA Space Act of 2015) ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นกฎหมายฉบับแรกในโลก มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนการสำรวจ และการดำเนินการแสวงหาทรัพยากรในอวกาศนอกโลกอย่างเป็นธุรกิจ ก่อนการออกกฎหมายอวกาศ ปี ค.ศ. 2015 ของสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกมีเฉพาะกฎหมายอวกาศของสหประชาชาติ คือ Outer Space Treaty มีผลบังคับใช้ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ก่อนความสำเร็จของสหรัฐอเมริกา ในการส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1969 เพียง 2 ปี

ตามกฎหมายอวกาศของสหประชาชาติ ฉบับปี ค.ศ. 1967 อนุญาตให้มีการสำรวจ และศึกษาอวกาศนอกโลก ดังเช่น ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย และดาวเคราะห์ต่างๆ ได้ แต่ห้ามการยึดครองพื้นที่ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศที่เดินทางไปถึงเป็นครั้งแรก สำหรับส่วนของดิน หิน และทรัพยากรต่างๆ ตามกฎหมายอวกาศของสหประชาชาติ ก็ให้เป็นกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการของประเทศที่ดำเนินการ ยกเว้น สิ่งมีชีวิต และห้าม การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างเป็นธุรกิจ

กฎหมายอวกาศของสหรัฐฯ ฉบับปี ค.ศ. 2015 เป็นกฎหมายฉบับแรกในโลก ที่ส่งเสริมให้มีการลงทุน และแสวงหาทรัพยากรในอวกาศเชิงธุรกิจ ยกเว้นทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิต กฎหมายอวกาศของลักเซมเบิร์ก ก็เจริญรอยตามสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายอวกาศ ดังเช่นของสหรัฐอเมริกา และของลักเซมเบิร์ก ก็เป็นประเด็นถกกันในเชิงวิชาการว่า จะใช้ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะมีประเด็นใหญ่ขัดกับกฎหมายอวกาศของสหประชาชาติ ในส่วนเกี่ยวกับความเป็นกรรมสิทธิ์เชิงธุรกิจ แต่ก็มีผลกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของบริษัทเอกชน ทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป สำหรับการทำเหมืองบนดวงจันทร์ และดาวเคราะห์น้อย

อันดับที่ 7. สมาร์ทโฟน กับคนจีน ขยันเดินที่สุดในโลก 

ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 คณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบอัตราการก้าวเดินต่อวัน ของคนกว่าหนึ่งร้อยประเทศ โดยใช้สมาร์ทโฟน ได้ผลออกมาเป็น คนจีน ในฮ่องกง ขยันเดินมากที่สุดโลก และได้ผลสื่อถึงสุขภาพ (ความอ้วน) ของคนในประเทศต่างๆ ผลการศึกษาวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสภาพ และระบบผังเมืองของแต่ละประเทศ

คณะนักวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Nature วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบอัตราการก้าวเดินต่อวันของคน จำนวน 717,000 คน เป็นเวลาเฉลี่ย 95 วัน ใน 111 ประเทศ คิดเป็นจำนวนวันที่ศึกษาทั้งหมด 68 ล้านวัน โดยอาศัยสมาร์ทโฟน ที่มี Argus Activity Monitoring App. บันทึกความเคลื่อนไหวของคนในแต่ละวัน แสดงออกมาเป็นจำนวนก้าวของคนในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา

สรุปผลการศึกษาเปรียบเทียบ พบค่าเฉลี่ยการเดินในแต่ละวันของตัวอย่างทั้งหมดเป็น 4,961 ก้าว โดยมีคนจีนในฮ่องกง ขยันเดินมากที่สุดในโลก คือ 6,880 ก้าวต่อวัน และในประเทศอินโดนีเซีย ขยันเดินน้อยที่สุดในโลก (ของ 111 ประเทศ) คือ 3,513 ก้าวต่อวัน

ตัวอย่างผลการศึกษาเปรียบเทียบของบางประเทศ คือ คนอเมริกันในสหรัฐอเมริกา เดินวันละ 4,774 ก้าว คนอังกฤษ ในประเทศอังกฤษ เดินวันละ 5,444 ก้าว

ในรายงานการศึกษาวิจัยนี้ มีการวิเคราะห์ผลออกมาเป็น "Activity Inequality" หรือ "ความไม่เท่ากันของกิจกรรม" เปรียบได้กับ "Income Inequality" หรือ "ความไม่เท่ากันของรายได้" ซึ่งเป็นรูปธรรม คือ ดัชนีบอกความร่ำรวย กับความยากจน (มีกับไม่มี หรือ มีมากกับมีน้อย) แต่กรณีของกิจกรรม ค่าความไม่เท่ากันของกิจกรรมยิ่งต่ำ ยิ่งดีต่อสุขภาพ (ความอ้วน ที่อ้วนน้อยคือ สุขภาพดี)

ตัวอย่างค่า Activity Inequality เปรียบเทียบที่ได้ผลออกมาใกล้เคียงกับ อัตราการก้าวเดินต่อวัน แต่ตัวเลขจะออกมาตรงกันข้าม เช่น คนจีนในฮ่องกง มีค่า Activity Inequality 22.2 แต่เดินมากที่สุด คือ 6,880 ก้าวต่อวัน ในขณะที่ คนอังกฤษ มีค่า Activity Inequality เท่ากับ 28.8 แต่เดินวันละ 5,444 ก้าว

สำหรับคนไทย ผลการศึกษาพบว่า คนไทยในประเทศไทย มีค่า Activity Inequality เท่ากับ 27.2 อยู่ในอันดับของ Activity Inequality ที่ 24 (จาก 111 ประเทศ) โดยที่คนจีนในฮ่องกง อยู่ในอันดับที่ 1 คนอังกฤษในประเทศอังกฤษ อยู่ในอันดับที่ 36 ส่วนคนอเมริกันในสหรัฐอเมริกา อยู่ที่อันดับ 42

ผลการศึกษาวิจัย ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมความเคลื่อนไหวในแต่ละวันต่อสุขภาพ (ความอ้วน) ของคนใน 111 ประเทศ โดยมีข้อสังเกตว่า ความแตกต่างของกิจกรรมความเคลื่อนไหว มิได้ขึ้นอยู่กับธรรมชาตินิสัยของคนในแต่ละประเทศเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับสภาพภายในเมืองของแต่ละประเทศด้วย ว่าสะดวก หรือเอื้อต่อการเดินของคนในเมืองหรือไม่? แค่ไหน?

การศึกษาวิจัยนี้ เป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนยุคดิจิตอล คือ สมาร์ทโฟน สำหรับการศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ แต่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต อย่างเป็นรูปธรรม

อันดับที่ 6. ยีนมิวเทชัน กับการสูญพันธุ์ของแมมมอธ

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 คณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ ตีพิมพ์รายงานการศึกษาหาสาเหตุการสูญพันธุ์ของช้างโบราณ แมมมอธ พบว่าสาเหตุใหญ่เกิดจาก การกลายพันธุ์ หรือมิวเทชันของยีนของแมมมอธรุ่นสุดท้าย เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน

คณะนักวิทยาศาสตร์ นำโดย รีเบคาห์ โรเจอส์ (Rebekah Rogers) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Plos Genetics (วันที่ 2 มีนาคม 2560) เปรียบเทียบยีนของแมมมอธตัวหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 4,300 ปีก่อน กับยีนของแมมมอธอีกตัวหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 45,000 ปีก่อน พบว่ายีนของแมมมอธตัวแรก เกิดการกลายพันธุ์ หรือมิวเทชันอย่างรุนแรง จนกระทั่งแมมมอธรุ่นสุดท้าย มีปัญหาทางด้านร่างกาย และการทำงานของระบบประสาท ดังเช่น การได้กลิ่น และระบบร่างกาย ดังเช่น ปัสสาวะที่มีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกลุ่มกัน และการหาคู่

แมมมอธ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่คล้ายช้าง มีงายาว ขนยาวปกคลุมทั้งตัว ตามหลักฐานของซากแมมมอธโบราณ พบว่ามีอยู่มากบนโลก ตั้งแต่เมื่อประมาณ 5 ล้านปีมาแล้ว และยังมีอยู่จนกระทั่งถึงยุคประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมื่อประมาณ 4,500 ปีก่อน แต่เหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยเพียงไม่กี่พันตัว จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุด

สาเหตุการสูญพันธุ์ขั้นต้น มาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และสภาพภูมิอากาศ แล้วก็การล่าของมนุษย์ในช่วงระยะก่อนการสูญพันธุ์จริงๆ เมื่อประมาณ 4,000–5,000 ปีก่อน

แต่สาเหตุหลักสุดท้ายของการสูญพันธุ์ จากการเปรียบเทียบยีน หรือดีเอ็นเอของแมมมอธ 2 ตัวที่ศึกษา นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ หรือมิวเทชันของแมมมอธกลุ่มสุดท้าย ที่เหลืออยู่เป็นจำนวนน้อย ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยลง จนกระทั่งเกิดการล่มสลายของยีน หรือดีเอ็นเอของแมมมอธกลุ่มสุดท้าย ก่อนจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ผลการศึกษาเปรียบเทียบสาเหตุการสูญพันธุ์ของแมมมอธ จะเป็นประโยชน์สำหรับความพยายามในปัจจุบันของมนุษย์ ที่จะรักษาพันธุ์สัตว์ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังเช่น เสือชีตาห์ ที่เหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว ในป่าธรรมชาติ และลิงกอริลลา ที่เหลืออยู่เพียงประมาณ 300 ตัว

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล Kshaiwat4@gmail.com

สำหรับ 10 ข่าวเด่นวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2560 ในอันดับที่ 1-5 นั้น สามารถติดตามได้ในตอนต่อไป วันพรุ่งนี้ 

                                                     ขอบคุณภาพจาก telegraph.co.uk,india.com,nature.com