“ส่วนตัว ผมอยากแนะนำ คุณตูนและทีมงานว่า ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา บริหารจัดการเงินบริจาคของประชาชนก้อนนี้ จากนั้น ก็ให้ รพ.แต่ละแห่ง เป็นผู้เลือกอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมดที่ต้องการ เข้าไปให้ทางคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นผู้จัดซื้อ เพื่อนำส่งมอบให้กับทาง รพ.”

เภสัชกร ปรีชา พันธ์ุติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย ผู้คลุกคลีตีโมงอยู่กับการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยมาอย่างยาวนาน ให้ความเห็นที่น่าสนใจกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หลังจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินให้กับ พี่ตูน เพื่อสนับสนุนโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ รพ. 11 แห่ง จนยอดบริจาคทะลุพันล้านบาท และ พี่ตูน ได้กลายเป็นไอคอนสำคัญของประเทศไทย แซงหน้าแม้กระทั่ง นายกฯ ลุงตู่ ในยุค Thailand 4.0!

เหตุใดจึงแนะนำ ทีมพี่ตูน เช่นนั้น?

แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ลองค่อยๆ ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไปไล่เรียงกันทีละประเด็น นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป!

...

คือมันเป็นแบบนี้ ครับ! ... เกสัชกรปรีชา ค่อยๆ เริ่มต้นเจาะประเด็นที่ ชาวไทยทั้งผองกำลังให้ความสนใจว่า ...

เนื่องจาก เงินนี้ เป็นเงินบริจาคของประชาชน ฉะนั้น รพ.แต่ละแห่ง ที่ได้รับบริจาค จะมีสิทธิ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เองได้เลย โดยไม่ต้องยึดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ตามระเบียบราชการ 

นอกจากนี้ เครื่องมือแพทย์ ไม่มีราคากลาง ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับ accessory ที่ผู้ต้องการใช้ เป็นผู้กำหนด

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เช่น การจัดซื้อรถพยาบาล ราคาจะอยู่ที่เท่าไร มันจะขึ้นอยู่กับว่า คุณต้องการรถยี่ห้ออะไร ภายในรถ ต้องการ accessory ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับการช่วยชีวิตอะไรเพิ่มเติมบ้าง มีการรับประกันกี่ปี?

ซึ่งประเด็นนี้แหละ ที่จะทำให้ ราคาการจัดซื้อ ของแต่ละโรงพยาบาล จะไม่เท่ากันเลย!

ฉะนั้น หากเกิดให้ทั้ง 11 รพ.เป็นผู้จัดซื้อเอง แล้วเกิด บาง รพ. ซื้ออุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน สเปกเหมือนกัน แต่แพงกว่าอีก รพ. หนึ่งขึ้นมาล่ะ มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา...

มันจะไม่สุ่มเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดภาพลบ กับประชาชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาค หรอกหรือ?

แต่กลับกัน...หากคุณตูนและทีมงาน มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยอาจจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อบริหารจัดการเงินเอง แล้วใช้วิธีเช่นว่า กรณีที่ รพ. มีความต้องการที่จะจัดซื้ออุปกรณ์บางชิ้นเหมือนๆ กัน ก็ให้ทางคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นผู้ซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นทั้งหมด แล้วส่งมอบให้ทาง รพ.ไปเลย

ปรีชา พันธ์ุติเวช
ปรีชา พันธ์ุติเวช

ซึ่งวิธีการนี้ ดีในแง่ที่ว่า

1. โดยปกติการจัดซื้อคราวละมากๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะได้ส่วนลด จากทางบริษัทที่มาเสนอขาย พูดง่ายๆ คือการซื้อของเพียงชิ้นเดียว กับการซื้อของหลายๆ ชิ้นในคราวเดียว ตกต่อชิ้น จะมีราคาถูกลง

2. กรณีแบบนี้ การมีงบประมาณไว้ในมือและพร้อมจะนำมาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว แน่นอน มันก็ย่อมมี หลายๆ บริษัทเข้ามาให้ทำการเลือกสรร ซึ่งเมื่อมีการแข่งขันกันสูง โอกาสที่จะได้อุปกรณ์ที่คุ้มค่าที่สุด ก็ย่อมมีมากขึ้น

3. การมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล จะทำให้การจัดซื้อ มีความโปร่งใส และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ทุกซอกทุกมุม

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเพียงข้อเสนอส่วนตัวของผมเท่านั้น ทุกอย่างมันก็ต้องขึ้นอยู่กับ คุณตูน และทีมงาน ว่า จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนนี้อย่างไร? นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

พิจารณาดูจากข้อมูล ที่ แต่ละ รพ. มีความต้องการจัดซื้อ จากที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รวบรวมมาให้แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร?

...

เภสัชกร ปรีชา ใช้เวลาครุ่นคิดสักครู่ ก่อนตอบคำถามนี้ว่า เบื้องต้นเท่าที่ได้ดูจากการตั้งงบประมาณ ของทาง รพ.ทั้ง 11 ที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รวบรวมมานั้น ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติทั่วๆ ไป ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง

และเบื้องต้น ส่วนตัวคิดว่า แต่ละ รพ.น่าจะมีการดูๆ กัน ไปบ้างแล้ว อีกทั้ง น่าจะมีผู้มาเสนอราคากันให้พิจารณากันบ้างแล้วละ!

อย่างไรก็ดี หากทาง รพ. แต่ละแห่ง เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสเปกอุปกรณ์ที่ชัดเจนให้สาธารณชนได้รับทราบ เช่น เป็นรุ่นไหน โมเดลอะไร ผู้จัดจำหน่ายคือใคร ก็จะเป็นการดีเป็นอย่างยิ่ง!

การจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างไรบ้าง?

ประเด็นนี้ ก็น่าสนใจนะครับ! เภสัชกรปรีชา กล่าวพร้อมกับสีหน้าที่เป็นกังวลเล็กน้อย

เนื่องจากว่า เงินตรงนี้ เป็นเงินของประชาชนทั้งประเทศ ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันบริจาค ส่วนตัวจึงอยากให้ ผู้ใช้ เป็นคนเลือกอุปกรณ์ ที่เขาอยากจะใช้ และมีบุคลากรที่มีความถนัด หรือได้รับการฝึกฝนสำหรับพร้อมที่จะใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ จริงๆ

พูดง่ายๆ คือ มันจะต้องไม่ใช่เป็นการซื้อ โดยที่ผู้ใช้ ไม่ได้ต้องการอยากที่จะใช้ หรือเป็นรุ่นที่เขาไม่ต้องการใช้! มิเช่นนั้น เครื่องที่ซื้อมา ก็จะกลายเป็นการเสียประโยชน์ และไม่คุ้มค่ากับเงินของประชาชนที่สูญเสียไป

...

อย่ายึดติด การจัดซื้อตามระเบียบราชการ เพราะนี่คือ เงินบริจาคของประชาชน ซื้อแพงก็ได้ แต่สำคัญต้องโปร่งใส

“มันไม่ใช่ว่า หากเกิดมี รพ.ไหน ไปซื้ออุปกรณ์ที่แพงกว่าที่ราชการจัดซื้อ มันจะต้องผิดปกติ และส่วนตัวผมคิดว่า เราไม่ควรนำประเด็นนี้ ไปเปรียบเทียบราคา กับการจัดซื้อของทางราชการ”

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย กล่าวอย่างหนักแน่น

จากนั้นได้อธิบายให้ทีมข่าวฯ ฟังต่อไปว่า ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ระบบราชการเรา มักจะนิยมซื้อของที่ถูกที่สุดเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ ของดีกว่า มันย่อมต้องแพงกว่า เป็นธรรมดา หรือของที่แพงกว่านั้น เป็นเพราะมันมี ออปชั่นเสริมที่ดีกว่าของถูก

ฉะนั้น การซื้ออุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม ในโครงการนี้ จะเลือกเพียงเพราะว่ามันมีราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้เด็ดขาด

อีกทั้งกรณีนี้ รพ.ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของในราคาที่ถูกที่สุด

เพราะโครงการนี้ เป็นเงินบริจาคของประชาชน ไม่ใช่เงินของทางภาครัฐ เพราะฉะนั้น จะซื้อของ จะแพงหน่อยก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ ... มันต้องสอดคล้องกับการที่จะให้บริการประชาชนในแต่ละ รพ. หรือไม่ และ รพ.เอง มีบุคลากรที่เหมาะสม และเพียงพอ สำหรับที่จะใช้มันด้วยหรือไม่

...

“คือหาก...มันมี ราคาแพง ก็ต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายให้กับประชาชนได้ว่า มันแพงกว่าเพราะอะไร ยกตัวอย่างเช่น มันเป็นรุ่นใหม่ มีคุณภาพดี ใช้ได้ทนทาน และมีบริการหลังการขาย โดยเฉพาะการซ่อมแซมดีกว่าของที่มีราคาถูกกว่า อะไรแบบนี้ เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน การเลือกซื้อ ก็ไม่ควรเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ใกล้ตกรุ่นแล้ว หรือ ต่างประเทศไม่ค่อยนิยมใช้กัน เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาที่ตามมาคือ จะไม่มีอะไหล่สำหรับทำการซ่อมแแซม ในกรณีที่อุปกรณ์เหล่านั้นเกิดเสียขึ้นมา

ฉะนั้น...จึงไม่อยากให้ทุกคนหลงประเด็น สิ่งสำคัญที่คำนึงถึงเรื่องนี้ คือ วิธีการในการจัดซื้อ ว่า จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ตรวจสอบได้หรือไม่ ราคาขายตามท้องตลาดอยู่ที่ราคาเท่าไร และหากซื้อด้วยราคานี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร มากกว่า” เภสัชกรปรีชา กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำ

เลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีบริการหลังการขายที่ดี 

ประเด็นต่อมา ที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจ คือ บริษัทที่มาเสนอขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ นั้น มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ในการดูแลบริการหลังการขาย เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีบริษัทที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์มากมายก็จริง แต่บริษัทที่มีความพร้อมในการดูแล เรื่องบริการหลังการขาย นั้น มีน้อยมาก เท่าที่เคยประสบพบเจอก็คือ เมื่อ อุปกรณ์เกิดเสีย บริษัทที่มาเสนอขายหลายแห่ง มักจะไม่สามารถหาอะไหล่มาทำการซ่อมแซมได้

ซึ่ง บริการหลังการขาย นี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญ ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างแท้จริง เพราะเครื่องมือแต่ละอย่างนั้น ต้องยอมรับว่า มีราคาแพงมาก เวลาเสียขึ้นมา ค่าซ่อมย่อมมีราคาสูงตามไปด้วย หากไม่มีบริการหลังการขายที่ดี อุปกรณ์ที่ซื้อมาแทนที่จะถูกนำไปช่วยเหลือประชาชน ก็จะถูกวางกองทิ้งไว้เปล่าๆ

เพราะ รพ. ไม่มีงบประมาณที่มากพอ สำหรับจะนำมันไปซ่อม หรือบางครั้งก็ไม่สามารถหาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนได้

ข้อที่ควรนำมาพิจารณาอีกประเด็นก็คือ บริษัทที่มาเสนอขาย มีเจ้าหน้าที่สำหรับออกไปอบรม หรือเทรนบุคลากรของ ทาง รพ. ที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นหรือไม่ หรือมีการนำเครื่องใหม่มาทดแทนในระหว่างที่นำเครื่องไปซ่อมหรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า แพทย์ตาม รพ.ต่างๆ นั้น มักจะมีการโยกย้ายกันเป็นปกติ เกิดแพทย์ที่ใช้อุปกรณ์นั้นได้ เกิดย้ายไป รพ. อื่น ขึ้นมา ทางบริษัทที่มาเสนอขาย จะได้จัดคนมาทำการเทรนแพทย์คนอื่น ให้สามารถใช้อุปกรณ์นี้ได้ต่อไป

ทั้งหมดที่ผมเสนอมานั้น เป็นเพราะอยากให้คุณตูนและทีมงาน มีวิธีในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้อย่างเหมาะสม เพราะส่วนตัวเห็นถึงความตั้งใจจริง ในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา จึงไม่อยากให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบตามมาภายหลัง ในทำนองเช่นว่า ซื้อของมาแล้วไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป

เพราะมิเช่นนั้น ประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาค อาจจะเสียความรู้สึกได้ ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ พลังกายพลังใจ ที่ คุณตูน อุตส่าห์ใช้พลังชีวิตทุ่มเทลงไปทั้งหมด อาจจะกลายเป็นภาพลบไป

เอาละ! เล่ามาถึงบรรทัดนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า แฟนๆไทยรัฐออนไลน์ คงเกิดคำถามในใจขึ้นมาส่วนหนึ่งว่า เหตุไฉน โรงพยาบาลในประเทศไทย ถึงต้องหวังเปิดรับบริจาค เพื่อจัดหาซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ มาให้บริการประชาชน

อะไรคือสาเหตุสำคัญ ของเรื่องนี้กันแน่!

ทีมข่าวฯ จึงได้ไปสอบถามข้อมูลเบื้องต้น จากแหล่งข่าวที่อยู่ในวงการแพทย์ไทยมายาวนาน เพื่อให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับฟังข้อมูลที่รอบด้าน

เราไปติดตามกัน!

"อย่าว่าแต่...อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงลิบลิ่วเลย ปัจจุบัน แม้แต่ จะซื้อ ยา รพ. บางแห่งยังแทบไม่กล้าที่จะซื้อด้วยซ้ำไป!" แหล่งข่าวของเรา เริ่มต้นการสนทนาอย่างเผ็ดร้อน

เพราะตอนนี้ใครซื้อของแพง เสี่ยงติดคุกติดตะราง อย่างยิ่ง!

นั่นเป็นเพราะ...ปัจจุบันทางราชการ มีความเข้มงวดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 เป๊ะๆ พูดง่ายๆ คือ ต้องซื้อของที่ถูกที่สุดเท่านั้น

ทีนี้...มันเลยทำให้เกิดปัญหา เช่น ในกรณีการซื้อยา หากให้ซื้อในราคาที่ถูกที่สุด เกิดได้ยาที่ไม่มีคุณภาพมากพอ คนไข้ที่รับไปเป็นอะไรขึ้นมา รพ.ก็ต้องรับผิดชอบอีก

แต่หากซื้อยา ยี่ห้อดีๆ ที่ตัวเองมั่นใจ แต่มีราคาแพง ก็อาจจะเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง

แบบนี้ มันเลยไม่มีใคร คิดอยากจะเสี่ยง!

นี่แค่...ยา นะ

แล้วคิดดูสิ หากเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว ใครจะกล้า!

ตอนนี้บอกได้เลย รพ.ต่างๆ ไม่ค่อยมีใครกล้าซื้ออะไรกันแล้ว เพราะหากไม่ซื้อในราคาที่เสนอถูกที่สุด บางครั้งอาจถึงขั้นติดคุกติดตะราง ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่จะมีความยืดหยุ่นกว่านี้

ไม่ใช่ว่า...จะเอาราคาที่ถูกที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อก่อน...มีนะ ซื้อแพงได้หน่อย แต่ที่แพง เพราะมีบริการหลังการขายที่ดี มีอะไหล่ซ่อมให้ หรือบางครั้งมีการสนับสนุน เงินส่วนกลางให้กับทาง รพ. เพื่อนำไปใช้สำหรับเป็นเงินสวัสดิการต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ. เช่นการสู้ความกรณีหมอถูกคนไข้ฟ้องร้อง ซึ่งไม่สามารถเบิกค่าทนาย จากทางราชการได้อยู่แล้ว

แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เลย ใครทำ โดน!

ซื้อตามระเบียบราชการ รอนาน ยุ่งยาก ได้ของตกรุ่น

นอกจากนี้ การจัดซื้อตามระเบียบราชการ นั้น มีขั้นตอนยุ่งยาก บางทีกว่าที่จะได้รับการอนุมัติงบประมาณ อุปกรณ์ที่ต้องการ ก็ตกรุ่นไปแล้ว ซื้อมาใช้ได้เพียง 4-5 ปี ก็เสีย เวลาจะซ่อมแซมทีหนึ่ง อะไหล่ก็ไม่มี เพราะเครื่องมันตกรุ่นไปแล้วก็มี สุดท้ายอุปกรณ์เหล่านี้ก็ได้แค่ตั้งโชว์ไว้เฉยๆ ตาม รพ.

หรือบางที...อุปกรณ์ที่ได้มา ด้วยราคาที่ถูกแสนถูกนั้น เกิดไม่ตรงกับที่ บุคลากรทางแพทย์ฝึกฝนมาอีก กว่าที่บรรดาคุณหมอจะชินกับเครื่องมือ ก็ต้องใช้เวลา หรือบางทีคุณหมอบางคนอาจจะไม่ใช้ไปเลยก็มี

เพราะคุณหมอ ไม่คุ้นเคย ที่จะใช้เครื่องมือชนิดนี้

สังเกตดูดีๆ นะ เดี๋ยวนี้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ราคาแพงมากๆ รพ.ส่วนใหญ่ จะไม่ซื้อกันแล้ว แต่เขาจะใช้วิธีให้บริษัทเอกชนนำอุปกรณ์นั้น มาติดตั้งไว้ใน รพ. แล้วแบ่งรายได้ ค่าใช้บริการจากคนไข้กัน ผ่านการทำสัญญาในรูปแบบความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและเอกชน

ซึ่งข้อดีของเรื่องนี้ คือ ข้อแรก รพ.ไม่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้อ และหากเครื่องเกิดเสียขึ้นมา ทางเอกชนก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซม ข้อต่อมาคือ รพ.จะมีอุปกรณ์ที่อัพเดตตลอดเวลาในการให้บริการประชาชน โดยมีเอกชนเป็นผู้จัดหา

ต้องไม่ลืมนะว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ มันก็เหมือนโทรศัพท์ เทคโนโลยีมันมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตลอดเวลา หาก รพ.รองบประมาณน่ะหรือ...เครื่องหนึ่งใช้ไปเถอะ 10-15 ปี ยังไม่ได้งบประมาณมาเปลี่ยนเลย!

แต่ในเมื่อมีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย นั่นก็คือ ประชาชนจะต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้นจากเดิม เพราะมันมีการบวกค่าบริการจากเอกชน เจ้าของเครื่อง ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ทาง รพ.จะต้องมีการควบคุมราคาค่าบริการ ไม่ให้ราคาสูงมากเกินไป จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน

"คือมันต้องแพงขึ้นอยู่แล้ว...คิดง่ายๆ สมมติเครื่องหนึ่งมูลค่า 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยวันหนึ่งกี่บาทแล้ว ฉะนั้น เอกชนก็ต้องหาเงินให้ได้มากกว่าที่เสียไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดูแลกันให้ดีๆ"

รองบประมาณสุดล่าช้า เบิกจ่ายยาก

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน เรามักจะเห็นว่า รพ.ต่างๆ มักจะใช้วิธีขอรับเงินบริจาคเงิน เพื่อมาจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เอง เพราะนอกจากจะไม่ติดขัดระเบียบราชการแล้ว รพ.ยังมีอิสระในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสม และทันสมัย ณ เวลา ที่ต้องการได้อีกด้วย

ราชการไม่ได้ตรวจสอบ แบบนี้ ก็เสี่ยงที่อาจจะมีการซื้อของแพงเกินจริง น่ะสิ!

ไม่ต้องกลัวไป หมอเขาไม่ยอมกันอยู่แล้ว เช็กกันเองตลอดแหละ ไม่มีใครยอมใครหรอก!

บรรดา หมอๆ เขาตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว เรื่องราคาอุปกรณ์แต่ละชิ้น เขารู้กันอยู่แล้ว ว่า ราคาตามท้องตลาดอยู่ที่ราคาเท่าไร หากพบว่า มีการซื้อมาเกินราคา หรือมีเงินทอน รับรองได้ว่า ข้อมูลหลุดไปภายนอกแน่นอน!

นอกจากนี้ แม้ไม่ติดระเบียบราชการ แต่หากมีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินจริง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบได้! แรงหมอ บวก สตง. รับรองไม่มีใครกล้าหรอก! แหล่งข่าววงในของเราทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านเพิ่มเติม