จาตุรนต์ ยก 5 ข้อ อัดยับ ม.44 แก้ก.ม.ลูกพรรคการเมือง สมคบคิดสืบทอดอำนาจ ขัดรธน.เต็มๆ ชี้มาจากการสมคบคิดของกลุ่มคนเดิมๆ เพื่อเป้าหมายให้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ครองอำนาจให้นานที่สุด

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า 1.คำสั่งนี้ไม่ใช่คำสั่งปลดล็อกพรรคการเมือง คำสั่งนี้อาจมีวัตุประสงค์อย่างหนึ่ง คือ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ แต่วัตถุประสงค์หลักและผลที่จะตามมา คือ การทำลายพรรคการเมืองทั้งหลายให้อ่อนแอ การกำหนดให้สมาชิกพรรคยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคพร้อมแสดงหลักฐานยืนยันคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามใน 30 วัน คือ การทำลายฐานสมาชิกพรรคให้เหลือน้อยที่สุดนั่นเอง นอกจากนี้ การเลื่อนการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค การประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายพรรคการเมืองออกไปอย่างไม่มีกำหนด ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการหาสมาชิก และที่สำคัญจะเป็นปัญหาต่อการจัดทำนโยบายที่จะเสนอในการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

2.คำสั่งนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความลักลั่นของกฎหมาย ที่อาจทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีคุณสมบัติที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 3.การออกคำสั่งนี้ ยืนยันว่า คสช.มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ขัดเจตนารัฐธรรมนูญทั้งโดยกระบวนการออกคำสั่งและเนื้อหาของคำสั่ง กล่าวคือ การออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาใช้นั้น เมื่อ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และ กรธ.พิจารณาว่า เป็นไปตามเจตนาของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว แต่กลับมาแก้โดยคำสั่ง คสช.ตามอำเภอใจ โดยไม่ได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือ กรธ.ได้พิจารณาอีกเลย

...

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในส่วนของเนื้อหาก็ขัดเจตนาของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ดูแลให้พรรคการเมืองทำตามกฎหมาย และ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ คสช.กลับออกคำสั่งให้ คสช.ใช้อำนาจเหล่านั้นแทน กกต.เสียเอง 4.การออกคำสั่งนี้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งที่ไม่ทราบว่าจะมีขึ้นเมื่อใดนี้ เป็นการเลือกตั้งภายใต้การกำกับแทรกแซง โดย คสช.ตั้งแต่ต้น และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า คสช.จะไม่แทรกแซงมากกว่าที่ได้ทำไปแล้ว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า 5.การออกคำสั่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนสมคบคิดเพื่อให้ คสช.ครองอำนาจต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า การเสนอรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง รีเซตพรรคการเมือง การตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ และการเสนอหรือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ล้วนมาจากกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันกับที่เคยสมคบกันเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนทำให้เกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าคนกลุ่มเดียวกันนี้กำลังสมคบคิดกันเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการและจุดมุ่งหมายที่มีมาแต่ต้น คือ ให้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนครองอำนาจให้นานที่สุด.