เข้ามาถึงตอนที่ 3 แล้ว สำหรับสกู๊ปซีรีส์ “ก้าวคนละก้าว” แน่นอน มีอีก 4 โรงพยาบาล ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังติดค้างคุณผู้อ่านอยู่ ประะกอบด้วย โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และสุดท้ายคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

โดยก่อนจะเริ่มต้นไล่เรียง ทีมข่าวฯ อยากบอกกับทุกๆ คนว่า สกู๊ปชิ้นนี้ต้องขอบพระคุณผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง ที่เปิดเผยความต้องการ และอุปกรณ์ที่ยังขาดแคลน ถึงแม้บางโรงพยาบาลบางแห่ง...จะไม่สามารถให้รายละเอียดข้อมูลเพราะติดปัญหาบางประการก็ตาม...

- โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี -

...

โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี..งบ 74.75 ล้านบาท

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เครื่องมือที่ต้องการมีอยู่ 2 ส่วน ของทั่วไป ประกอบด้วย ชุดเตียงผู้ป่วยและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับการเปิดตึกผู้ป่วย 8 ชั้น ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จในปีหน้า ประกอบด้วย

- เตียงผู้ป่วย เสาน้ำเกลือ และตู้ข้างเตียง จำนวน 300 ชุด ชุดละ 55,000 บาท รวม 16,500,000 บาท

- เครื่องควบคุมการหยดสายน้ำเกลือ Infusion pump จำนวน 250 เครื่อง ราคาเครื่องละ 55,000 บาท รวม 13,750,000 บาท

รวมราคา 30,250,000 บาท

ส่วนที่ 2 เครื่องมือแพทย์ชั้นสูง

- ชุดส่องตรวจทางเดินอาหาร ด้วยหัวกล้องอัลตราซาวนด์ Endoscopic ultrasound ; EUS/ ตรวจทางเดินหายใจด้วยหัวกล้องอัลตราซาวนด์ Endobronchial ultrasound ; BUS/ รวมกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนตับ, ส่วนปลายและทางเดินท่อน้ำดี 1 ชุด ราคา 15,000,000 บาท

- เครื่องถ่ายภาพรังสีแบบต่อเนื่องคุณภาพสูง (Fluoroscope, Flat Planel) 1 ชุด ราคา 10,000,000 บาท

- ชุดผ่าตัดส่องกล้อง เอ็นและกล้ามเนื้อ 1 ชุด ราคา 7,000,000 บาท

- เครื่องวัดเลนส์หลังตาเทียม สำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจก 1 ชุด ราคา 1,500,000 บาท

- เครื่องยิงรักษาโรคต้อหินมุมเบิก 1 ชุด ราคา 1,500,000 บาท

- ชุดสลายนิ่ว Percutaneous nephrolithotomy 1 ชุด 4,500,000 บาท

- ชุดผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency abrasion) 1 ชุด 5,000,000 บาท

รวมชุดนี้ 44,500,000 บาท

รวมชุดครุภัณฑ์ของ รพ.สุราษฎร์ธานี ที่ยังขาดแคลนอยู่ เป็นเงินจำนวน 74,750,000 บาท

ผอ.รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ เครื่องอัลตราซาวนด์ จี้มะเร็งตับชนิดกระจาย รองลงมา เครื่องผ่าตัดกระดูกผ่านกล้อง เช่น เอ็นขาด เราไม่จำเป็นต้องเปิดกระดูกเป็นแผลใหญ่ๆ และเครื่องรักษาจี้ที่หัวใจ เนื่องจากการรักษาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งตับ บางรายมะเร็งไม่ได้กระจายทั่ว แต่มีการกระจายเป็นก้อนๆ จุดๆ ซึ่งเครื่องนี้จะปล่อยคลื่นที่ฆ่ามะเร็งที่เป็นก้อนเล็กๆ ตามจุดต่างๆ ส่วนเครื่องจี้หัวใจนั้นเพื่อรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผ่าตัดเข่า

...

“ทั้งนี้ เราได้ลิสต์รายชื่อสิ่งที่ยังขาดแคลนไว้แล้ว ส่วนเรื่องเงินนั้น เราเองก็เปิดรับบริจาคที่เป็นส่วนของโรงพยาบาลอยู่ นอกเหนือจากโครงการก้าวคนละก้าว” นพ.สุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย

เครื่องซีทีสแกน
เครื่องซีทีสแกน

- โรงพยาบาลยะลา -

...

รพ.ยะลา ต้องการ ซีทีสแกน มากที่สุด ราคากว่า 20 ล้าน

ด้าน นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่า อุปกรณ์การแพทย์ที่ทางโรงพยาบาลต้องการอยู่ในขณะนี้ ครื่องซีทีสแกน มีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท เครื่องช่วยหายใจเด็ก ผู้ใหญ่ เครื่องมือผ่าตัด เครื่องมือห้องฉุกเฉิน และเครื่องมือรองรับสถานการณ์จากเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็จะนำมาใช้ให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาลก็กำลังก่อสร้างอาคารผู้ป่วยอยู่สองอาคารด้วยกัน เป็นอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินและยังเป็นอาคารที่จะรองรับผู้ป่วยได้อีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะเสร็จในปี 2562 สำหรับเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ก็จะนำไปไว้ที่อาคารใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศูนย์ดูแลผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ปัจจุบันโรงพยาบาลมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 70 คน ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยใน 500 เตียง และผู้ป่วยนอก 2,000 คนต่อวัน ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นอัตราส่วนการรักษาที่เกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งผลต่อมาตรฐานด้านการรักษาโรงพยาบาลยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง

...

- โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร -

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เน้นครุภัณฑ์ 3 ด้าน อยากได้ ซีทีสแกน

สำหรับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับการเปิดเผยจาก นพ.วิเชียร ระดมสุทธิสาร รอง ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยว่า จากการพูดคุยกับทาง ผู้อำนวยการ (นพ.จรัญ บุญฤทธิการ) และ ผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทางโรงพยาบาลอยากจะได้ ประกอบด้วย ครุภัณฑ์ที่เน้น 3 ด้าน 1. สนับสนุนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 2. ระบบการเปิดศูนย์หัวใจ ช่วยแก้ปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจ และ 3. ชุดเกี่ยวกับ unit mobile โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งนำมาใช้ที่ข้างเตียงผู้ป่วยเลย โดยเฉพาะเครื่องสำคัญที่อยากได้อีก 1 เครื่อง คือ เครื่องซีทีสแกน

1. สนับสนุนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เครื่องอัลตราซาวนด์ (รังสีวินิจฉัย) เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ (แต่ละเครื่องราคาหลักล้านขึ้น)

2. โรคเลือดหัวใจ เครื่องอัลตราซาวนด์ เม็ดเลือดแดง เรียกว่า intravascular Ultrasound นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจี้เส้นเลือด เพื่อวัดค่าทำงานของออกซิเจน

3. เครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนย้ายได้ และเคลื่อนย้ายไม่ได้

“สิ่งที่อยากได้เราได้มีการลิสต์รายชื่อไว้แล้ว โดยมีกรอบวงเงินประมาณ 100 กว่าล้าน ซึ่งอุปกรณ์บางอย่างมีมูลค่าสูง เช่น เครื่องซีทีสแกน มูลค่ามากกว่า 10 ล้าน หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ (รังสีวินิจฉัย) ก็มีราคาเป็นล้านขึ้นไป” นพ.วิเชียร กล่าว 

พี่ตูนถ่ายรูป หน้า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
พี่ตูนถ่ายรูป หน้า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

- โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ -

รพ.พระมงกุฎฯ ใช้งบ 2 พันล้าน ขาดอุปกรณ์มากมาย..เงินทุกบาทพี่ตูนจัดสรร อยากมอบสิ่งใดแล้วแต่ใจพี่ตูน

สำหรับโรงพยาบาลสุดท้าย..แน่นอน ย่อมเป็น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดย พล.ต.พีระพล ปกป้อง เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่ร่วมดูแลโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เปิดเผยว่า ตอนนี้มีการลิสต์รายการจัดซื้อในส่วน รพ.พระมงกุฎฯ ไว้แล้ว โดยรายการมีจำนวนมาก สืบเนื่องจาก เรามีโครงการก่อสร้างตึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2562 โดยมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ลิสต์รายการไว้ เป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท..

ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นตนจำได้ไม่หมด... สำหรับเงินที่จะใช้นั้น เราได้รับขอบางส่วนเราจะขอจากงบประมาณแผ่นดิน และกองทัพบก ซึ่งอาจจะเป็นงบผูกพัน ซึ่งงบเหล่านี้จะนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร หากสร้างเสร็จ ก็ต้องขอสำหรับเครื่องมือแพทย์ต่อ

สิ่งที่ยังขาดแคลน สำหรับ รพ.พระมงกุฎฯ นั้น มีเยอะมาก สืบเนื่องจากต้องนำมาใช้ในอาคารแห่งใหม่ ประกอบด้วย

1. เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยในห้องวิกฤติ
2. เครื่องติดตามการเต้นของหัวใจ
3. อุปกรณ์ในห้อง ICU ทั้งหมด

ซึ่งส่วนใหญ่คือเครื่องที่ช่วยยังชีพ โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ เพราะเวลาผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา เราสามารถช่วยให้เขาหายใจได้ นอกจากนี้ เรายังเตรียมห้องฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวกด้วย เป็นต้น

“ห้องผ่าตัดใหญ่ 1 ห้องนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยชีวิตหลากหลาย ดังนั้น จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้ออุปกรณ์ ส่วน รพ.พระมงกุฎฯ จะซื้ออะไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันทีหลัง หลังจากคุณตูนวิ่งในโครงการก้าวคนละก้าวเสร็จ”

เราจะให้คุณตูนบริหารจัดการเงินทั้งหมด โดยคุณตูน จะต้องเข้ามาคุยกับทางมูลนิธิฯ เพื่อหาวิธีการจัดการ แต่เท่าที่คุยกันไว้เบื้องต้น จะมีการพิจารณาแบ่งเงินตามขนาดโรงพยาบาล..แต่ก็ยังไม่ได้สรุป เพราะอำนาจตัดสินใจสุดท้ายจะแบ่งให้แต่ละโรงพยาบาลเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับคุณตูน คุณตูน จะเป็นคนเลือกเองว่าจะแบ่งให้แต่ละโรงพยาบาลเท่าไร

เช่นเดียวกัน คุณตูน จะซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สิ่งใดมอบให้กับ รพ.พระมงกุฎฯ นั้น คุณตูนก็จะเป็นคนตัดสินใจ โดยที่ทางเราได้มีการทำรายการสิ่งที่ขาดแคลนสำหรับตึกใหม่ไว้แล้ว จะได้มากน้อยแค่ไหน หรือเลือกซื้อสิ่งใดก็ได้

“เนื่องจากสิ่งที่ขาดของเรามันเยอะมาก มันมากกว่าที่คุณตูนจะให้ อาทิ คุณตูนจะให้ห้อง ICU ซึ่งห้อง ICU นั้นมีหลายระดับ ซึ่งราคาแตกต่างกัน เฉลี่ยประมาณ 10-15 ล้านบาท เพราะข้างในมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่หลากหลาย เช่น เครื่องช่วยหายใจ 1 เครื่อง ราคาตั้งแต่ 1-2 ล้าน (ตามสเปกและประสิทธิภาพ)”

ส่วนตัวเชื่อว่า โครงการนี้ คุณตูน น่าจะได้เงินบริจาคเกิน 1,000 ล้านบาท แต่เมื่อวิ่งจนสิ้นสุดที่เชียงราย โครงการก็ยังไม่ได้ปิด แต่จะไปปิดโครงการราวเดือนพฤษภาคม เนื่องจากคาดว่าจะมีการจัดงานอีเวนต์เพิ่มเติม

“ขอย้ำว่าเงินที่ได้ทั้งหมดนี้ ทาง มูลนิธิ รพ.พระมงกุฎฯ จะมีการพูดคุยกับ คุณตูน เพื่อให้คุณตูนเป็นผู้จัดสรร มอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ”

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจาก "พี่ตูน" ฉะนั้น "พี่ตูน" จะเป็นคนจัดสรร และมอบความช่วยเหลือให้กับ 11 โรงพยาบาล ทั้งนี้ โรงพยาบาลไหน..อยากได้อะไร คงต้องสื่อสารกับพี่ตูน และหวังว่าจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่คนทั้งประเทศมอบให้ผ่านพี่ตูนอย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งการทำบุญครั้งนี้ นับเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่คนทั้งประเทศรวมใจ..

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก - เฟซบุ๊ก ก้าว

อ่านเพิ่มเติม