โครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ...'ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย' ไม่ได้วิ่งเพียงแค่ ‘เบตง’ สู่ ‘แม่สาย’ แต่ชายผู้นี้ ได้วิ่งเข้าไปในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...
คลื่นน้ำใจจากทั่วประเทศ หลั่งไหลทะลุ 1 พันล้าน...เงินหนึ่งบาท สิบบาท ร้อยบาท ล้านบาทจากคนทั้งชาติ รวมเป็นคุณประโยชน์มหาศาล ด้วยการส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และต่อชีวิตให้แก่คนไทยอีกมากมายหลายชีวิต
“เงินพันล้าน” จากโครงการก้าวคนละก้าว สู่ 'โรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ'...
ทั้ง 11 โรงพยาบาล จะนำเงินที่ได้จากโครงการที่สั่นสะเทือนระบบสาธารณสุขของไทยไปทำประโยชน์ใดๆ บ้าง? ติดตามได้จากรายงานพิเศษชิ้นนี้!
...
- โรงพยาบาลขอนแก่น -
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ในโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการก้าวคนละก้าว
“เงินที่พี่ตูนยอมสละกำลังกาย แลกเงินบริจาคที่มาจากน้ำใจของคนไทยทั้งชาติ รพ.ขอนแก่น จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง?” ประเด็นสำคัญที่ทีมข่าวยกมาพูดคุยกับ ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น
นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงเครื่องมือเร่งด่วน 5 รายการที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ดังต่อไปนี้
1.เครื่อง Cath Lab (Cardiac Catheterization Laboratory)
“เครื่อง Cath Lab หนึ่งตัว มีราคาอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าล้าน เดิมทาง รพ.มีอยู่แล้ว 1 เครื่อง และเราต้องการอีก 1 เครื่อง หากเครื่องที่เรามีอยู่ต้องนำไปซ่อมบำรุง แต่กลับมีคนไข้เกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือขาดเลือดขึ้นมา และต้องมาทำบอลลูน ทาง รพ.ก็ไม่สามารถรีรอได้ เพราะฉะนั้นเรามีเครื่องชนิดนี้เพิ่มอีก 1 เครื่อง แน่นอนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะต้องน้อยลง” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
2.เครื่องช่วยหายใจ
“รพ.ขอนแก่น มีเครื่องช่วยหายใจอยู่ร้อยกว่าเครื่อง แต่มีคนไข้จำนวนมากกว่าร้อยคนที่ต้องการใช้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รพ.ในละแวกใกล้เคียง รพ.ขอนแก่น มักจะส่งคนไข้ที่มีอาการค่อนข้างหนักมาที่นี่ ย่อมแปลว่าคนไข้ที่มีอาการหนักท่านนั้นๆ จำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ด้วยความที่เรามีไม่พอต่อจำนวนของคนไข้ เราจึงต้องไปเอาอะไหล่เครื่องช่วยหายใจของเก่าจาก 40 กว่าปีก่อนมาดัดแปลงจนใช้ได้ ซึ่งเครื่องช่วยหายใจรุ่นเก่าที่ว่านี้ ไม่มีใครในโลกเขาใช้กันแล้ว” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
“เครื่องช่วยหายใจนั้น มีหลายขนาด หลายฟังก์ชั่น มีตั้งแต่ตัวเล็กสุด ปานกลาง จนไปถึงดีสุด ซึ่งตัวที่ดีที่สุดนั้น มีราคาอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้าน แต่เครื่องช่วยหายใจที่เราใช้อยู่ มีราคาประมาณ 4-8 แสนบาท และสำหรับในส่วนนี้ เราต้องการไม่น้อยกว่า 20 ตัว” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
3.เครื่องติดตามสัญญาณชีพและการทำงานของหัวใจอัตโนมัติ
“เครื่องชนิดนี้ จะบอกรายละเอียดในเรื่องของความดัน เรื่องของชีพจร เรื่องอุณหภูมิ เรื่องการหายใจ โดยที่ไม่ต้องให้พยาบาลมานั่งนับนั่งเฝ้า เมื่อร่างกายของคนไข้มีปัญหา เครื่องชนิดนี้ก็จะร้องเตือนให้เจ้าหน้าที่พยาบาลรีบไปดู” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
“เครื่องชนิดนี้ มีราคาไม่แพงมาก ราคาอยู่ที่ประมาณแสนต้นๆ แต่ทาง รพ.ต้องการใช้งานอีกราวๆ 20-30 เครื่อง เพราะคนไข้วิกฤติที่ รพ.ของเรามีจำนวนมาก” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
4.ชุดเครื่องมือผ่าตัด
“บางแผนกของทาง รพ.ขอนแก่น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดเครื่องมือผ่าตัดเพิ่มเติม ซึ่งเครื่องมือ 1 ชุดมีราคาตั้งแต่หลัก 1 แสนไปจนถึง 5 แสน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเครื่องมือชุดเล็กหรือชุดใหญ่ และทาง รพ.ต้องการอีก 10 ชุด” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
...
5.เตียงผู้ป่วย และโคมไฟผ่าตัด
“ทาง รพ.ขอนแก่น มีห้องผ่าตัดเพิ่มขึ้น 8 ห้อง ซึ่งเรามีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาโคมไฟผ่าตัดให้ครบทุกห้อง เพราะตึกหัวใจที่เราสร้างเสร็จ ตอนนี้เรามีแค่ตึก แต่ครุภัณฑ์เรายังไม่มี ซึ่งเราก็ต้องทำการจัดหากันต่อไป” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
“โดยเตียงผู้ป่วย มีราคาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนโคมไฟ มีราคาล้านต้นๆ ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งเราต้องการเตียงผู้ป่วย และโคมไฟผ่าตัด ทั้งหมด 8 ชุด” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ขยายความถึงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ว่า หากรวมเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดทุกรายการที่ทาง รพ.ขอนแก่นวางแผนที่จะจัดซื้อ จะอยู่ที่ราวๆ 30-40 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 401 ล้านบาท
“เงินจำนวนนี้มิใช่ว่าจะมาจากเงินของโครงการก้าวคนละก้าวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเงินที่มาจากงบประมาณ และเงินบริจาคในส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งทาง รพ.ขอนแก่นจะจัดซื้อโดยเรียงลำดับไปตามความจำเป็นเร่งด่วน” นพ.ชาญชัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าว
...
- โรงพยาบาลราชบุรี -
นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี คาดการณ์รายละเอียดของเครื่องมือแพทย์ที่ทางโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน 4 รายการ ดังต่อไปนี้
1.เครื่องฉายรังสี รักษามะเร็ง
“ทาง รพ. มีเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งอยู่แล้ว 1 เครื่อง ต้องการอีก 1 เครื่อง ซึ่งชุดอุปกรณ์ฉายรังสีนั้น มีราคารวมแล้วประมาณ 175 ล้านบาท หากถามว่า ทำไม รพ.ถึงต้องมีเครื่องนี้อีก 1 เครื่อง คำตอบก็คือ ตอนนี้เรามีคนไข้ที่ป่วยโรคมะเร็ง 8 ร้อยกว่าคนแล้ว แต่ละคนต้องต่อคิวยาว 2-3 เดือน ทั้งๆ ที่คนไข้ต้องฉายแสงให้เร็วที่สุด” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
“โดยเครื่องดังกล่าวนั้น คงไม่สามารถนำเงินจากโครงการก้าวคนละก้าวมาจัดซื้อได้เต็มจำนวน เพราะฉะนั้นทาง รพ.คงจะต้องนำเงินงบประมาณ และเงินบริจาคในส่วนอื่นๆ มารวมกัน” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
2.ชุดเครื่องมือในห้องผ่าตัด
“ในห้องผ่าตัดนั้น จะมีเครื่องมือหลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่น เตียงผ่าตัด, โคมไฟผ่าตัด (1-2 ล้าน), เครื่องดมยา (1.8-2 ล้าน), เครื่องให้นำ้เกลือ, ระบบแอร์, ผนังป้องกันการติดเชื้อ และเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย เบื้องต้นทาง รพ.ต้องการพัฒนาประมาณ 10 ห้อง ตกห้องละ 6-10 ล้านบาท” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
“เครื่องมือผ่าตัดนั้น จะมีเป็นชุดๆ ตกชุดละแสนต้นๆ ไปจนถึงหลักล้านบาท หากเป็นชุดเครื่องมือรุ่นใหม่ๆ จะมีราคาสูงไปถึงหลายสิบล้านบาท หากทาง รพ.สามารถจัดซื้อมาได้ก็จะแจกจ่ายให้กับแผนกสำคัญๆ 5 แผนก คือ แผนกศัลยกรรมประสาท, ศัลยกรรมหัวใจ, ศัลยกรรมช่องท้อง, ศัลยกรรมทั่วไป และสูตินรีเวช” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
...
3.ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ห้อง ICU)
“ห้อง ICU จำเป็นต้องมีเตียงคนไข้, เตียงไฟฟ้า, เครื่องช่วยหายใจ (5-8 แสน), เครื่องวัดชีพจร และเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งประเมินงบประมาณได้ค่อนข้างยาก” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
4.เครื่องเอกซเรย์ทั่วไป
โดยเครื่องดังกล่าว จะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 630mA. แบบแขวนเพดาน ดิจิตอลพร้อมแผ่นรับภาพ 1 แผ่น ราคาเครื่องละประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งทาง รพ.ต้องการจำนวน 1 เครื่อง
“ทาง รพ.ประเมินเบื้องต้นว่า ทาง รพ.อาจจะได้รับเงินบริจาคจากโครงการก้าวคนละก้าว ประมาณ 60 ล้านบาท จากนั้นทาง รพ.จะนำเงินในส่วนดังกล่าว มาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์โดยเรียงลำดับตามความจำเป็นต่อไป” นพ.ทรงพล ผอ.โรงพยาบาลราชบุรี กล่าว
- โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี -
นพ.ศราวุฒิ ตั้งศรีสกุล ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นไปพัฒนา ‘ศูนย์โรคหัวใจ’ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120 ล้านบาทโดยประมาณ
1.เครื่อง Cath Lab (Cardiac Catheterization Laboratory)
“การพัฒนาศูนย์โรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำคัญก็คือ เครื่อง Cath Lab ซึ่งเครื่องดังกล่าว มีอุปกรณ์เสริมอีกมายมายหลายรายการ รวมๆ แล้วจะอยู่ที่ 59 ล้านบาทโดยประมาณ โดยมีการเตรียมห้องไว้รองรับเครื่อง Cath Lab จำนวน 2 ห้อง และต้องการใช้งานเครื่อง Cath Lab ประมาณ 2 เครื่อง” นพ.ศราวุฒิ ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว
2.ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ห้อง ICU) และ 3.ผู้ป่วยวิกฤติทางด้านหัวใจ (ห้อง CCU)
“นอกจากนี้ ทาง รพ.ยังต้องเตรียมห้อง ICU และห้อง CCU เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาจากศูนย์โรคหัวใจ โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาห้อง ICU จะอยู่ที่ 49 ล้านบาท ส่วน CCU จะอยู่ที่ 12 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 120 ล้านบาท” นพ.ศราวุฒิ ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว
ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อธิบายเพิ่มเติมว่า แพทย์ที่จะประจำอยู่ที่ศูนย์โรคหัวใจนั้น ตอนนี้ทาง รพ.มีอยู่ 1 คนแล้ว และกำลังจะเรียนจบมาอีกคนหนึ่ง ซึ่งตนไม่สามารถระบุชื่ออุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการนี้ทุกรายการ เพราะเครื่องมือทางการแพทย์บางรายการขนาดหมอก็ยังเรียกไม่ถูก เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องให้หมอหัวใจที่เขาเรียนมาเฉพาะทางเป็นคนระบุ
“พี่ตูน เป็นคนสุพรรณบุรี ไม่ว่าอย่างไร ทาง รพ.ก็จะนำเงินบริจาคที่พี่ตูนมอบให้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ประชาชนเห็นภาพมากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีประชาชนจำนวนมาก รวมถึงบุคคลสำคัญ หรือคนดังของสุพรรณบุรีเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ในท้ายที่สุด หากทาง รพ.สามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ อัตราการเสียชีวิตก็จะลดลงอย่างแน่นอน” นพ.ศราวุฒิ ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว
- โรงพยาบาลสระบุรี -
นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลสระบุรีกำลังก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจ มะเร็ง และรักษาโรคซับซ้อน ซึ่งอาคารหลังดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี 2561
“นอกเหนือจากนี้ ทาง รพ.ยังมีการก่อสร้างหอผู้ป่วยหนักอีก 5 หอ ห้องผ่าตัด 11 ห้อง ศูนย์ส่องกล้องที่จะใช้วินิจฉัยและรักษาโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมีศูนย์เอกซเรย์ รวมถึงศูนย์ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ห้องทารกแรกเกิด ห้องคลอด ซึ่งอาคารนี้ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์อีกพอสมควร” นพ.อนันต์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี กล่าว
“เรามีลิสต์ไว้ยาวเลย ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่เข้ามาจะเพียงพอที่จะจัดซื้อชิ้นไหน จากนั้นเราก็จะจัดซื้อตามลำดับความสำคัญต่อไป” นพ.อนันต์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี กล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสระบุรี มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.เครื่องติดตามสัญญาณชีพ
“เครื่องชนิดนี้ จะอยู่ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ห้อง ICU) ทาง รพ.ต้องการเพิ่ม 4-5 เครื่อง โดยมีราคาตั้งแต่ล้านต้นๆ ไปจนถึง 6 ถึง 7 ล้านบาท” นพ.อนันต์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี กล่าว
2.เตียงและโคมไฟผ่าตัด รวมทั้งเครื่องมือผ่าตัดบางรายการที่ใช้ในการรักษามะเร็ง
3.เครื่องตรวจมะเร็งเต้านม
4.อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการส่องกล้อง ซึ่งใช้ในการส่องลำไส้ใหญ่ และส่องทางเดินอาหารประเภทต่างๆ
“เมื่อรวมทุกรายการที่มีการวางแผนจัดซื้อนั้น จะคิดเป็นเงินมากกว่า 80 ล้านบาท” นพ.อนันต์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนว่า...
ในระดับสากล ผู้ป่วยในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความแตกต่างจากผู้ป่วยไทย เหตุเพราะคนไข้ไทยแทบทุกรายมักมีความคิดที่ว่า ทันทีที่รู้สึกป่วย ต้องมุ่งตรงไปที่โรงพยาบาลทันที มิหนำซ้ำยังมีความคิดที่ว่า เราในฐานะผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ที่ฝีมือดีที่สุดของโรงพยาบาลนั้นๆ และด้วยความเข้าใจเหล่านี้ ได้นำมาสู่ "ปัญหาผู้ป่วยล้นอัตรา และเป็นที่มาให้แพทย์-พยาบาลต้องทำงานหนักมากขึ้น"
ขณะเดียวกัน คนไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร มีน้ำใจ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่เข้าถึงแพทย์ได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่าป่วย คุณสามารถดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะไปรักษาที่สถานบริการปฐมภูมิ (สถานบริการปฐมภูมิ หมายถึง สถานบริการตั้งแต่ระดับสถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)
ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงตามจุดประสงค์ที่พี่ตูนต้องออกวิ่งอย่างแท้จริง...
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก ก้าว
อีก 7 โรงพยาบาลศูนย์ จะนำเงินจากโครงการก้าวคนละก้าว ไปทำอะไร อ่านต่อได้ที่นี่!
- ก้าวพันล้าน EP.2 กางแผน 3 รพ.ภาคเหนือ ใช้งบพี่ตูน 100 ล้าน ช่วยคนไข้แดนไกล