สถ.เดินหน้าขับเคลื่อนศูนย์เด็กเล็กท้องถิ่น จัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ มุ่งพัฒนา ร่างกาย-สติปัญญา มีความพร้อมเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 60 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่มอบนโยบายให้ข้อเสนอแนะในการบริหารงาน และติดตามการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบางตีนเป็ด ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางตีนเป็ด จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดดอนทอง สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางตีนเป็ด ณ โรงเรียนวัดดอนทอง ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมฯ มีความต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกรมฯ ได้ตระหนักว่า เด็กเล็กที่อายุระหว่าง 2-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงจะผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี ไม่มีปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทุกๆ วัน อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ปกครองสามารถไว้วางใจเมื่อลูกหลานมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น และในวันนี้ กรมฯ เลยถือโอกาสมาพบปะพูดคุย และเยี่ยมเยียนบุคลากรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ และให้ทุกคนในสังคม ร่วมกันเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเราให้กว้างไกล มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนางานของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงต้องยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน และที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ที่ต้องเร่งปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ร่วมกันบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งทุกคนในชุมชนต้องช่วยกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ของตนเอง โดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3ช นั่นคือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และผลิตเพื่อใช้ใหม่ โดยเริ่มจากการนำถุงผ้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะได้ ซึ่งกรมฯ ได้ริเริ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเปิดรับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจที่จะอุทิศตนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ และมีภูมิลำเนาอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดขึ้น โดยผู้ที่สมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จะได้รับการปฐมนิเทศ ฝึกอบรม รวมทั้งร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม และให้เข้าใจในหน้าที่ของตนให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ติดตามและกำกับดูแล ให้คำปรึกษาหารือ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.)ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ส่วนทางด้าน "ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. ...." กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวย้ำถึงการดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ ที่มีจุดประสงค์ในการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าขายรายใหม่ที่เป็นเกษตรกร ประชาชนทั่วไปหรือผู้สนใจหารายได้เพิ่ม ให้สามารถนำพืชผลทางการเกษตร หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้ในตำบล หมู่บ้าน หรือในครอบครัว ไปวางจำหน่ายในตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ โดยให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจจำนวนตลาดในเขตพื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีที่ใดบ้าง สามารถเพิ่มพื้นที่ในการจัดตั้งแผงสินค้าเพิ่มได้หรือไม่ หรือสามารถใช้พื้นที่ว่างที่เหมาะสม ให้เป็นตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ

ในตอนท้าย นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึงการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยย้ำให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันทำหน้าที่ในการรวมรวมข้อมูลรายชื่อของพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และให้ความช่วยเหลือ ติดตามผลการดำเนินการ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องมีช่องทางรับเรื่องขอความช่วยเหลือของประชาชนที่หลากหลาย เช่น โทรศัพท์สายด่วน สายตรง สื่อออนไลน์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสาร และขอความช่วยเหลือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงจัดให้มีฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ (หน่วยเคลื่อนที่เร็ว) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และรวดเร็วในรูปแบบประชารัฐต่อไป