นานกว่า 20 ปี ที่โรงพยาบาลราชวิถี ขออนุมัติงบ ประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี

จาก “โรงพยาบาลหญิง” ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็กแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลในปี พ.ศ.2494 จนถึงวันนี้ โรงพยาบาลราชวิถี มีอายุครบ 66 ปีพอดี

ราชวิถีเป็นโรงพยาบาลที่ผ่าตัดแยกแฝดสยาม “วันดี-ศรีวัน” ออกจากกันได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเปลี่ยนจากโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็กมาเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคทั่วไป ในปี พ.ศ.2519 ก่อนจะได้รับพระราชทานชื่อโรงพยาบาลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า “โรงพยาบาลราชวิถี” ในปี พ.ศ.2525

คนทั่วไปอาจรู้จักโรงพยาบาลแห่งนี้ ในฐานะโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ที่รับส่งต่อคนไข้จาก รพ.ต่างๆในต่างจังหวัด แต่แท้ที่จริงแล้ว ราชวิถีเป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศในหลายๆด้าน แม้กระทั่งการปลูกถ่ายอวัยวะในยุคแรกๆของเมืองไทย โดยมีการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ ในปี พ.ศ. 2531 เป็นโรงพยาบาลแรกที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และปอดพร้อมกันที่เรียกว่า Domino Heart Transplantation สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย และต่อมาได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ ทั้งตับ

ไต หัวใจ ปอด มาโดยตลอด โดยเฉพาะทีมแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนตับ รพ.ราชวิถี มีศัลยแพทย์ทีมผ่าตัดตับมานานเกินกว่า 20 ปี สามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ครบวงจร หรือแม้แต่ผ่าตัดเปลี่ยนปอด หัวใจ หรือเปลี่ยนตับและไตสามารถทำพร้อมกันได้ ในกรณีที่เป็นโรคตับแล้วไตมีปัญหา หรือเป็นโรคไตแล้วตับมีปัญหา เช่น คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานด้วย โรคไตด้วย การเปลี่ยนไตอย่างเดียวอาจไม่ช่วยอะไร เพราะคนไข้จะต้องเปลี่ยนตับอ่อนด้วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนอวัยวะทั้ง 2 พร้อมกันไปเลยได้ ซึ่ง รพ.ราชวิถีเคยผ่าตัดคนไข้เพื่อเปลี่ยนอวัยวะ 3 อย่างพร้อมกันเป็นผลสำเร็จไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้

...

นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี บอกว่า ด้วยภารกิจที่ค่อนข้างหนักของโรงพยาบาลราชวิถี ที่มีแพทย์เพียง 250 คน แต่ต้องดูแลผู้ป่วยปีละประมาณ 1 ล้านคน เฉพาะผู้ป่วยนอก หรือ OPD วันละมากกว่า 3,500 คน ข้อมูลในปี พ.ศ.2559 แพทย์ 1 คนของโรงพยาบาลราชวิถี ต้องดูแลผู้ป่วยใน 161 คน และผู้ป่วยนอก 3,996 คน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากกว่าโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่อื่นๆ อีกหลายแห่ง ประกอบกับพื้นที่เดิมของโรง– พยาบาลค่อนข้างแออัด ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอเพื่อทำการรักษาค่อนข้างนาน และอาคารต่างๆ ที่เปิดทำการรักษามาเป็นเวลานานก็เริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จำเป็นต้องขยายสถานที่และนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีและรวดเร็วขึ้น

“ล่าสุดเราได้รับงบประมาณ 1,935 ล้านบาท จากรัฐบาลในการสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี ที่คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2561 ซึ่งน่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 1 ล้านเป็น 1.5 ล้านคน หรือวันละประมาณ 6,000 คน มีเตียงรองรับผู้ป่วยในได้ 400 เตียง ผู้ป่วยวิกฤติได้รับการดูแลที่ดีขึ้นเนื่องจากมีเตียง ICU เพิ่มอีก 64 เตียง ห้องผ่าตัดเพิ่ม 11 ห้อง” ผอ.รพ.ราชวิถีบอก

คุณหมอมนัสบอกด้วยว่า นอกจากพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจและรักษาโรคเฉพาะทางครบวงจรตามมาตรฐานสากล ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ศูนย์ไตเทียมเทคโนโลยีใหม่ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellent) อีก 8 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือด, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการผ่าตัดทางกล้อง, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านสูตินรีเวช, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านอุบัติเหตุ, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD), ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ และศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านจอประสาทตา

...

“การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย อาทิ การผ่าตัดทางกล้อง และการผ่าตัดแบบแผลเล็ก กลับบ้านได้เร็ว รวมถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ที่มองเห็นแบบระบบ 3 มิติ เป็นการผ่าตัดแบบความละเอียดสูงควบคุมโดยศัลยแพทย์ ลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้หลายโรค ทั้งการผ่าตัดรักษามะเร็งช่องปาก ลำคอ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งนรีเวช มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี และการผ่าตัดกระดูกสันหลังและคอ” คุณหมอมานัสบอกและว่า ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณอีกราว 500 ล้านบาท ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ครบวงจร ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถร่วมสร้างเทคโนโลยีต่อชีวิตคนป่วยไข้ที่ยากไร้ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1 หรือ สอบถามโทร. 0-2354-7997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org