ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยมักจะพบเห็นคดี “ถูกรางวัลใหญ่ แต่สลากใครกันแน่” บนหน้าสื่อแขนงต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

ขณะที่ ประเด็นสำคัญที่หลายคนตั้งคำถามกันมากที่สุด คือ “ต้นขั้วสลาก” ซึ่งแม่ค้าบางรายมีการอ้างว่า ต้นขั้วสลากสามารถระบุได้ว่า “สลากฉบับนั้นๆ เป็นของใคร”

“ต้นขั้วสลาก” เจ๋งแจ๋วขนาดที่บอกได้เลยหรือว่าใครเป็นเจ้าของสลาก หาคำตอบได้จากข่าวชิ้นนี้...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือในฐานะโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้ความรู้ผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า “ต้นขั้ว” เป็นภาษาทางเทคนิคของผู้ขายที่ใช้กันเองภายในแวดวงของผู้ขายสลาก แต่สำหรับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรียกว่า “สลาก” ส่วนคำที่แม่ค้าพูดว่า “ต้นขั้ว” นั้น ต้องนิยามก่อน ว่ามันคืออะไร

“ต้องบอกก่อนว่า เมื่อสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายสลาก เราจะจำหน่ายสลากเป็นเล่ม หากใครเคยสังเกต หรือตามสี่แยกคอกวัว สลากจะเป็นเล่ม โดยมีกระดาษสีน้ำตาลทับอยู่ด้านบน และเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เราซื้อขายปกตินั่นแหละ ไม่ได้มีการบันทึกเหมือนเช็คว่า หมายเลขอะไร มีรอยปรุฉีกออกไปหรือไม่ เป็นลายเซ็นใคร มันไม่ได้เป็นแบบนั้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ กล่าว

แฟ้มภาพ : ผู้ซื้อสลากฯ
แฟ้มภาพ : ผู้ซื้อสลากฯ

“สำหรับสมุดเช็ค จะมีด้านซ้ายด้านขวา และมีรอยปรุ นั่นคือต้นขั้วในความรู้สึกของผม แต่สลากกินแบ่งรัฐบาล จะออกมาเป็นเล่ม ซึ่งเล่มนั้นๆ เราฉีกออกจากเล่ม เราจะมีสลากฉบับนั้นเลยทั้งใบ ไม่มีรอยปรุ ไม่มีตัวหมายเลขยืนยันใดๆ จะมีแต่สลากใบนั้นๆ เลย เพราะฉะนั้น สลากกินแบ่งรัฐบาลจึงไม่มีการพิสูจน์ทราบ 2 ส่วนเช่นเดียวกับเช็ค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ กล่าวต่ออีกว่า ในขณะเดียวกัน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สามารถตรวจสอบได้ว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่งสลากเล่มนี้ให้กับใคร ซึ่งจุดนี้กองสลากมีข้อมูลเก็บไว้ เช่น เราส่งให้นาย ก. นาย ก. อยู่จังหวัดไหน กองสลากรู้

แฟ้มภาพ : การจำหน่ายสลาก
แฟ้มภาพ : การจำหน่ายสลาก

“สลากพอมันเป็น 5 ใบ ซึ่งจะเป็นการรวบมาจาก 5 คน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รู้จักคำว่า ต้นขั้ว ว่ามันคืออะไร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ กล่าว

...

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานั้น ประชาชนอาจพบเห็น “คดีถูกรางวัลใหญ่ แต่สลากใครกันแน่” ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้ง ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนวรรธน์ กล่าวว่า ภายใน 3 ปี มีคดีลักษณะนี้ 4-6 ครั้ง.