ธรรมศึกษา

หลักสูตรการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่คณะสงฆ์คิดค้นขึ้นสำหรับพุทธศาสนิกชน

จุดมุ่งหมายเพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ศึกษาหลักธรรม คำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถ่องแท้

ตลอดระยะเวลากว่า 88 ปีที่ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง จัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาให้กับพุทธศาสนิกชน มีผู้สนใจเข้าเรียนมากขึ้นตามลำดับทุกปี

พระพรหมมุนี
พระพรหมมุนี

กระทั่งปี 2560 มียอดผู้เข้าสอบธรรมศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นตรี โท เอก ทั่วประเทศรวมกันถึง 1,935,851 คน

แต่นั่นก็ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ที่ตั้งเป้าไว้ว่าต้องการให้เด็ก เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 11 ล้านคน ได้เรียนธรรมศึกษา

...

จึงนำมาซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง กับกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา

รวมไปถึง การพัฒนาหลักสูตรธรรมศึกษาเป็นอีเลิร์นนิง หรือ electronic learning (e-learning) ที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการออกแบบ และพัฒนาหลักสูตรนี้ทั้งหมด

นับเป็นมิติใหม่ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรธรรมศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเลยทีเดียว

เพราะรูปแบบของหลักสูตร “อีเลิร์นนิงธรรมศึกษา” ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นั้นจะมีทั้ง แอพพลิเคชัน การ์ตูนแอนิเมชัน รวมทั้งจะนำมาเผยแพร่ผ่านทาง เว็บไซต์ยูทูบ ด้วย

โดยจะนำวิชาต่างๆที่เรียนในหลักสูตรธรรมศึกษามาทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชันรวมกว่า 300 ตอน

ซึ่งภายในเดือน มี.ค.2561 หลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรีจะถูกพัฒนาเป็นระบบอีเลิร์นนิงโดยสมบูรณ์ จากนั้นจะมีการพัฒนาในหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นโท และชั้นเอกตามลำดับต่อไป

พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) แม่กองธรรมสนามหลวง อธิบายถึงจุดมุ่งหมายในการพัฒนาหลักสูตร “อีเลิร์นนิงธรรมศึกษา” ว่า การพัฒนาหลักสูตรธรรมศึกษาเป็นระบบอีเลิร์นนิง เพื่อต้องการให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาธรรมศึกษาผ่านระบบออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมงผ่านสมาร์ทโฟน ผ่านคอมพิวเตอร์ มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย โดยจะนำเนื้อหาในบทเรียนธรรมศึกษามาทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน และเป็นอีบุ๊กส์ ซึ่งภายในเดือน ธ.ค.2561 ระบบอีเลิร์นนิงจะมีความสมบูรณ์ทั้งธรรมศึกษาชั้นตรี โท และเอก เชื่อว่าจะสามารถทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และผู้สนใจได้สะดวกและง่ายขึ้น

“การที่คณะสงฆ์พัฒนาหลักสูตรธรรมศึกษาขึ้นมานั้น เพื่อหวังให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ในฐานะที่เป็นชาวพุทธได้ศึกษาหลักวิชาการขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้รู้หัวข้อธรรมง่ายๆในการดำรงชีวิต และได้รู้ประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาหลักของไทย ไม่ได้คาดหวังจะให้ผู้เรียนและผู้สอบธรรมศึกษารู้แจ้งในหลักธรรมทั้งหมด แต่หวังให้ผู้เรียนได้ซึมซับและเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเบื้องต้น รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งจะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้เป็นพื้นฐานนำไปค้นคว้าในหลักวิชาการที่สูงขึ้นในอนาคตด้วย” พระพรหมมุนี กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์หลักของการที่คณะสงฆ์จัดการเรียนการสอนหลักสูตรธรรมศึกษาให้กับพุทธศาสนิกชน

ขณะที่ พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง กล่าวเสริมว่า การพัฒนาหลักสูตรธรรมศึกษาเป็นระบบอีเลิร์นนิง จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดครูผู้สอนได้ เพราะหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ได้รับการตอบรับจากสถานศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ขาดบุคลากรที่จะเข้าไปสอนตามสถานศึกษาต่างๆ ระบบอี-เลิร์นนิงจึงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

...

“ทีมข่าวศาสนา” มองว่า การพัฒนาหลักสูตรอีเลิร์นนิงธรรมศึกษาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาชนิดพลิกโฉมหน้าในการจัดการเรียนการสอนของคณะสงฆ์

เพราะจากเดิมที่ต้องอ่านจากหนังสือ มีครูพระคอยสอนตามสำนักเรียน หรือโรงเรียนต่างๆ แต่หลังจากปี 2561 เป็นต้นไป การเรียนธรรมศึกษาก็สามารถทำได้เพียงผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น

ทั้งนี้ ก็เพื่อหวังดึงเด็กและเยาวชนให้สนใจเข้ามาศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้ง่ายและสะดวกขึ้น
และเมื่อเด็ก เยาวชน ได้เรียนธรรมศึกษาแล้วสนใจเข้าสอบธรรมศึกษาจนผ่านในแต่ละระดับ ผลพลอยได้ที่ตามมาย่อมเกินกว่าคำว่าคุ้มค่า

เพราะสิ่งที่จะได้ซึมซับจากการเรียนรู้หลักธรรมซึ่งจะติดตัวผู้เรียนไปตลอดชีวิต น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของคณะสงฆ์ในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา

สำคัญสุดเหนืออื่นใดคือ การบ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้รู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมของสังคมไทยอย่างยั่งยืน...

ทีมข่าวศาสนา