“มหาวิทยาลัยไทย” มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ผลิตบัณฑิตใหม่ออกมาปีละกว่าสามแสนคน และมากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนที่จบออกมาต้องพบกับวิกฤติ “บัณฑิตตกงาน” ...ที่เกิดขึ้นทุกปี
สาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพเศรษฐกิจ การเลือกงาน เรียกเงินเดือนสูงเกินไป แต่ขณะเดียวกันในฝั่งของหน่วยงานและองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่แม้จะมีความต้องการบุคลากรใหม่อยู่ตลอดเวลาแต่กลับประสบปัญหาไม่สามารถรับบัณฑิตใหม่เข้าทำงานได้
หรือหากรับได้ ก็มักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจากบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากไม่มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในสายงานที่ทำ ไม่อดทนต่อการทำงาน
และบางองค์กรยังต้องเสียงบประมาณเพื่อเติมความรู้ให้พนักงานใหม่ ทำให้เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา...กว่าจะได้พนักงานที่มีคุณลักษณะตรงกับที่ต้องการ
คำถามสำคัญที่องค์กรภาคธุรกิจตั้งคำถามต่อ “ระบบการศึกษา” คือ “มหาวิทยาลัย” ในปัจจุบันกำลังทำอะไรกันอยู่?
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ...ทักษะเพื่อการทำงานเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
ปัญหามีว่า...มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทัน ปัจจุบันยังมีคณะวิชาที่สอนในหลักสูตรเก่าบัณฑิตจบมาก็นำความรู้มาใช้ในโลกการทำงานจริงไม่ได้เพราะความรู้นั้นล้าสมัยไปแล้ว รูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาแบบเดิมจึงต้องเปลี่ยน
ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นที่ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิทัล” เน้นเรื่องของนวัตกรรมซึ่งต้องมีฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ตลาดงานต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่ม มีทักษะภาษาอังกฤษสูง ทำงานเป็นทีม การเรียนการสอนเพื่อปั้นคนให้มีทักษะเหล่านี้ต้องใช้กระบวนการ discuss method แลกเปลี่ยน...ระดมความคิด ให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง
...
เมื่อเป็นเช่นนั้น...วิธีเรียนจากห้องเลกเชอร์มีอาจารย์เป็นศูนย์กลาง ให้จดจำแต่ทฤษฎีแทบไม่มีการปฏิบัติ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ธีรศักดิ์ สงวนมานะศักดิ์ ผู้จัดการแผนกสรรหาและว่าจ้าง บริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นในมุมของผู้ที่มีหน้าที่คัดสรรบุคลากรใหม่ให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมว่า ทักษะด้าน soft skill สำคัญมากสำหรับบัณฑิตใหม่ เช่น การสื่อสารภาษาอังกฤษ การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีม เหล่านี้เป็นทักษะที่นักศึกษาฝึกฝนตนเองได้ตลอดสี่ปีในมหาวิทยาลัยจากกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ และอาจจะเป็นทักษะที่ตลาดต้องการมากกว่า hard skill ในสายงานอาชีพนั้นๆด้วยซ้ำ
“ผมคิดว่าการออกปฏิบัติสหกิจศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน เป็นอีกช่องทางที่พิสูจน์ความสามารถของนักศึกษาได้ โดยเฉพาะทักษะการใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างได้เปรียบกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ”
และการปรับตัวในกระบวนการเรียนการสอนมีความสำคัญมาก จะเห็นว่ามีสาขาวิชาใหม่ๆเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งไม่ใช่สาขาเดิมที่เคยเปิดการสอนในมหาวิทยาลัยรัฐ ส่วนมากจะเป็นหลักสูตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี...เกิดจากความต้องการของสถานประกอบการและองค์กรธุรกิจ
ธีรศักดิ์ บอกว่า มหาวิทยาลัยเอกชนปรับเปลี่ยนได้เร็วและเป็นหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานได้ตรงแต่ใช่ว่าบัณฑิตที่จบจะได้งานตรงกับสาขาที่เรียนมาทุกคน ขึ้นอยู่กับความพร้อมและคุณภาพของบัณฑิตด้วยอีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง... ตลาดงานเปิดกว้างในสาขาดิจิทัล แต่มหาวิทยาลัยสอนอะไร?
“เรียน”-“สอน” ยุคใหม่ต้องใช้ข้อมูลข่าวสารให้เป็น...หลักสูตรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันธุรกิจที่เปลี่ยน เครื่องมืออุปกรณ์การสอนจำพวกแผ่นใส เครื่องฉาย ต้องเก็บเข้ากรุ
เดี๋ยวนี้เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่พัฒนาไปไกลมากแล้ว อย่างเช่น ถ้าจะสอนหลักสูตรจัดการไอที หลักสูตรเกมและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยก็ต้องจัดหาดิจิทัลแล็บให้พอ สอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์การตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยต้องหาพื้นที่และโอกาสให้นักศึกษาได้คิด...ลงมือในธุรกิจจริงๆ
โลกแห่งความเป็นจริง...ของพวกนี้ต้องเรียน-สอน-ฝึกกันตั้งแต่ปีหนึ่ง ไม่ใช่ปีสุดท้ายก่อนเรียนจบ
“ชัดที่สุดตอนนี้ ตลาดงานด้านการตลาดดิจิทัล ซึ่งเป็นสาขาวิชาในคณะบริหารธุรกิจ กำลังเป็นงานที่ต้องการคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยยังปั้นคนกลุ่มนี้ออกมาไม่พอกับความต้องการ”
อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดประเด็นสะท้อนความจริงให้ความเห็นว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว คือ ต้องรู้ความต้องการของตลาดงาน ทิศทางการเติบโตและวิวัฒนาการของอาชีพต่างๆ
เช่น อาชีพนักวางแผนการเงิน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของแวดวงหุ้นและการเงิน อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และเกมออนไลน์ สำหรับตลาดไอทีและธุรกิจเกมออนไลน์ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดงาน...ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
...
พร้อมกับส่งเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตรให้นักศึกษาให้มากเพื่อฝึกฝนทักษะจำเป็นต่อการทำงาน เช่น จัดแข่งขันด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืองานนวัตกรรม
“มาช้ายังดีกว่าไม่มา” มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวทันที
อันธิกา ย้ำว่า ยุคนี้เป็นยุคของการหลอมรวม มหาวิทยาลัยไทยก็เช่นกัน การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ต้องเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง หรือที่เรียกว่าต้องมี “Ecosystem” ที่ดี มหาวิทยาลัยจึงจะเป็นเบ้าหลอมปั้น “คนเก่ง”... “คนคุณภาพ” ออกสู่สังคม
“การร่วมเป็นพันธมิตร...สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ องค์กรภาครัฐและธุรกิจ เป็น engagement partnership จะช่วยให้มหาวิทยาลัยรู้ความเปลี่ยนแปลงในตลาดงานจริงและรู้ว่าสถานประกอบการต้องการคนแบบไหน”
ขณะนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว หากวันนี้มหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนตัวเองย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล เพราะผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคดิจิทัล ส่งผลให้อัตราการว่างงานแปรผกผันกับตำแหน่งงานว่างในตลาด
แม้ว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีการปรับตัวแล้ว แต่สิ่งที่สังคมไทยโดยเฉพาะในภาคธุรกิจต้องการ คือการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วและมีความพร้อมที่สุดในการ “ปั้น” คนทันโลก...บุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญเดินหน้าประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
หัวใจสำคัญ...สั้นๆง่ายๆ “เรียน...สอนแบบเก่าเอาเข้ากรุ มหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องปั้นคนทันโลก”.