เรื่องที่อยู่ในศาลอาชญากรระหว่างประเทศเป็นที่สนใจกันมาก วันนี้ผมขอรับใช้ในแง่มุมของเซอร์เบีย เพื่อเมื่อท่านอ่านข่าวจะได้เข้าใจภูมิหลังของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น ประเทศแถบนี้เปลี่ยนการปกครองบ่อย อย่างสาธารณรัฐเซอร์เบีย ระหว่าง ค.ศ. 1918 - 1941 เคยเป็นดินแดนอยู่ในราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ระหว่าง ค.ศ.1943- 1991 ก็เป็นดินแดนหนึ่งในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ระหว่าง ค.ศ. 1991-2003 เป็นหนึ่งในดินแดนของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย

ค.ศ. 2003 สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียก็สลายตัว ดินแดนต่างๆก็แตกกระสานซ่านเซ็น บางดินแดนก็ไปรวมตัวกัน อย่างเซอร์เบียและมอนเตเนโกรรวมกันเป็นสหภาพเซอร์เบียและมอนเตเนโกร อยู่กันได้แค่ 3 ปี เซอร์เบียบอกไม่เอาแล้ว ฉันอยู่เดี่ยวๆดีกว่า แล้วก็ประกาศแยกตัวเป็นรัฐเอกราชชื่อสาธารณรัฐเซอร์เบีย

เซอร์เบียมีพื้นที่ 8.8 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากร 7.3 ล้านคน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซอร์เบียนออร์ทอดอกซ์ พลเมืองร้อยละ 62 ของเซอร์เบียเป็นเซิร์บ ร้อยละ 16 เป็นแอลเบเนีย ร้อยละ 5 เป็นมอนเตเนโกร ที่เหลือก็เป็นพวกสลาฟใต้

ใครอยากเข้าใจการเมืองของดินแดนในอดีตยูโกสลาเวียที่ประธานาธิบดีและนายพลทั้งหลายถูกศาลอาชญากรระหว่างประเทศจับกุมคุมขัง จนบางคนตัดสินใจกินยาตายในศาล ก็ต้องศึกษาเรื่องศาสนาและเผ่าพันธุ์ของประเทศทางแถบนี้ล่ะครับ

ประวัติเซอร์เบียยาวนานมาหลายร้อยปี ผมขอตัดตอนมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เซอร์เบียเป็นแกนนำในการรวมชนชาติสลาฟใต้ได้เป็นครั้งแรก และก็สถาปนาราชอาณาจักรเซิร์บ โครแอต และสโลวีน เมื่อ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1918 โดยมีพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งราชวงศ์คาราจอร์เจวิช ทรงเป็นพระประมุข

ราชอาณาจักรนี้มีทั้งเซอร์เบีย โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ดัลเมเชีย และสโลวีเนีย มีชื่อที่เกี่ยวข้องเยอะหน่อยนะครับ ที่จริงยังมีเยอะกว่านี้อีก แม้แต่เซอร์เบียเพียงรัฐเดียวก็ยังประกอบด้วยดินแดน วอยโวดีนา มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย แต่ละรัฐในราชอาณาจักรนี้ เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน สุดท้ายก็มายอมรับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1921 ที่ให้มีการปกครองเป็นแบบรัฐเดียว รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ปัญหาเกิดขึ้นเพราะพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ 1 คิดจะล้มอำนาจของประชาชนและสถาปนาระบอบราชาธิปไตย

...

พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงให้ยุบสภาและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วมีพฤติกรรมเป็นเผด็จการ ค.ศ.1929 พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นยูโกสลาเวีย หรือประเทศของชาวสลาฟใต้ เดิมราชอาณาจักรนี้ประกอบไปด้วย 5 รัฐ พระองค์ทรงคิดว่าแต่ละรัฐมีโอกาสจะแข็งข้อ พระองค์ต้องการสลายคำว่ารัฐให้เหลือเป็นจังหวัด จึงสั่งให้แบ่งเขตการปกครองใหม่เป็น 9 จังหวัด โดยตั้งใจว่าจะให้มีความเป็นปึกแผ่น แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่พระองค์คิด ประชาชนเริ่มต่อต้านอย่างเงียบๆ

การต่อต้านเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้เพียงสิบปีกว่า ผู้นำกลุ่มต่างๆก็บรรลุข้อตกลงที่จะล้มระบอบประชาธิปไตย และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นเมื่อ ค.ศ.1943 คนที่ได้รับการทาบทามให้เป็น ประธานาธิบดีคนแรกคือ ตีโต

สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1946 คราวนี้ตีโตไม่รวบอำนาจ แต่แบ่งการปกครองออกเป็น 6 รัฐ คือ โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา สโลวีเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย

เซอร์เบียนั้นยังมีคอซอวอ เมโทฮียา และวอยโวดีนา เป็นจังหวัดที่มีฐานะพิเศษคือ มีสิทธิปกครองตนเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับเซอร์เบียในบางเรื่อง โชคดีที่สหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าแทรกแซงยูโกสลาเวียเหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ยูโกสลาเวียจึงเป็นคอมมิวนิสต์เพียงประเทศเดียวที่เป็นอิสระ ปราศจากอิทธิพลของมหาอำนาจโซเวียต

ภายนอกเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เนื้อแท้ของตีโตกลับชอบการกระจายอำนาจ แม้สภาจะมีฉันทานุมัติให้แกดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศตลอดชีพ แต่แกก็ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีองค์กรที่เป็นคณะประธานาธิบดีร่วมกัน โดยให้ประธานาธิบดีจากสาธารณรัฐทั้ง 6 และมณฑลอิสระอีก 2 แห่ง ผลัดกันรับตำแหน่งประธานาธิบดีวาระละ 1 ปี

พอตีโตถึงแก่อสัญกรรมนั่นล่ะครับ พวกนี้จึงแย่งอำนาจกัน

พรุ่งนี้มารับใช้กันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com