"ศรีสุวรรณ" ยื่น กสม.- ป.ป.ช.สอบรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนม็อบเทพา ชี้ล่ามโซ่ทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา-เหยียดเพศแกนนำที่หายตัว-ออก 4 ประกาศ เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ขัดกติกาสากลระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 60 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการฯ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่าน นายโสพล จริงจิตร รองเลขาธิการ กสม. ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการจับกุมแกนนำต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดย นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ต้องการให้ กสม.ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 4 เรื่อง คือ 1. การเดินเท้าไปคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ของชาวบ้าน ไม่ได้มีการขัดขวางหรือก่อเหตุวุ่นวาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้กำลังเข้าสลายขบวนการเดินเท้าของชาวบ้าน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อระเบียบวินัย ที่ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง 2. การเข้าควบคุมตัวแกนนำทั้ง 15 คน ทั้งหมดยังไม่ใช่ผู้ต้องหา เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีการใช้เครื่องพันธนาการหรือล่ามโซ่ ระหว่างนำบุคคลทั้งหมดเดินทางไปยังศาลเพื่อฝากขัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยให้การรับรองไว้
3. การที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ถึงการหายตัวไปของแกนนำคัดค้านฯ ระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าสลายขบวนเดินเท้า ทำนองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ควบคุมตัว แต่อาจหายไปกับหญิงอื่นนั้น ถือเป็นการเหยียดเพศ หยามชาวบ้าน เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของแกนนำ ถือเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเช่นกัน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 4 บัญญัติคุ้มครองไว้ และ 4. การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศ จำนวน 4 ฉบับ เรื่องการกำหนดพื้นที่ การปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ซึ่งในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องต่างๆ ไว้ รวมถึงเรื่องการชุมนุมฯ การออกประกาศถือเป็นการละเมิดทำให้ประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอสามจังหวัด ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว กระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งที่การที่ชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เดินเท้าไปก็ประสงค์จะยื่นหนังสือ และอธิบายต่อนายกฯ โดยตรง ถึงเหตุของการคัดค้านเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่นายกฯ จะใช้อำนาจตามมาตรา 15 พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ออกประกาศทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว การออกประกาศจึงเป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
"การเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรับทั้งดีทั้งชอบ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกเขาก็เป็นอย่างนี้ และนายกฯ เรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมาย แต่ท่านกลับไม่เคารพกฎหมายเสียเอง แล้วจะมาสอนประชาชนให้เคารพกฎหมายได้อย่างไร และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีทีท่าสนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิ แต่ถ้า กสม.ตรวจสอบ และมีข้อสรุปที่เป็นไปในทางประจานรัฐบาล ก็จะทำให้ทั่วโลกรับรู้ เราไม่อาจปิดประเทศอยู่คนเดียวได้ ถ้าถูกต่างประเทศตำหนิเรื่องการละเมิดสิทธิ หรือใช้มาตรการในการบอยคอตต่างๆ ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย"
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็จะไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กรณีการสลายขบวนเดินเท้าของชาวบ้าน เข้าข่ายดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประวิตร การที่ออกมาระบุว่าแกนนำ ซึ่งก็มีเยาวชนด้วยหนึ่งคน เป็นพวกฮาร์ดคอร์ชอบความรุนแรง การพูดลักษณะนี้เท่ากับการให้ท้าย ยุยงส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน
...