ข้อเสนอบลูมเบิร์กร่วมจุฬาฯ-ศึกษาลดเสี่ยงถนน 9 สายใน กทม.

วันที่ 27 พ.ย. ที่กองบังคับการตำรวจจราจร พล.ต.ต.ธีรศักดิ์ สุริวงศ์ ผบก.จร. กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการการบริการจัดการการใช้ความเร็วเพื่อร่วมกันป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จัดโดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อประโยชน์สาธารณะว่า จากข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน 76% เกิดจากพฤติกรรมขับรถเร็ว สตช.จึงได้ร่วมกับมูลนิธิบลูมเบิร์กจัดประชุมร่วมเพื่อร่วมแก้ปัญหา เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยตั้งเป้าลดอุบัติเหตุจากปี 2554 เหลือ 50% โดยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายจำกัดความเร็วรถลดลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา แต่ในบางพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย หรือในย่านชุมชน อาจจะออกเป็นข้อบังคับใช้ จาก 80 กม./ชม. เหลือ 50 กม./ชม.

นายยุคันต์ทิวัตถ์ กมลาสน์กุล ผู้ประสานงานด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิบลูมเบิร์กกล่าวว่า ทางมูลนิธิบลูมเบิร์กได้ร่วมวิจัยและหาทางลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเร็วรถในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2559 โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น 9 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถนนอโศกมนตรี 2.ถนนสุขุมวิท 3.ถนนเพชรบุรี 4.ถนนพระราม 4 5.ถนนสีลม 6.ถนนเยาวราช 7.ถนนจักรพงษ์ 8.ถนนจักรเพชร 9.ถนนเจริญกรุง ในจำนวนนี้ได้คัดเลือกเส้นทางนำร่องศึกษาและแก้ไขปัญหา 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถนนอโศกมนตรี มีการขยายทางม้าลายจาก 6 เมตรเป็น 9-12 เมตร พร้อมทั้งติดตั้งรั้วกั้นเพื่อบังคับให้ประชาชนข้ามถนนในจุดที่กำหนดเท่านั้น และทำเกาะกลาง 2.ถนนสีลม ติดตั้งแผงเหล็กกั้น 3.ถนนเยาวราช กำหนดช่องทางเดินสำหรับประชาชน หลังจากทดลองปรับปรุงกายภาพพบว่า สามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้มากขึ้น ส่วนเส้นทางอื่นๆ มูลนิธิบลูมเบิร์กเสนอให้ กทม.ปรับปรุงระบบต่างๆ เช่น ทำเนินสะดุด ติดตั้งสัญญาณไฟคนข้าม รั้วกั้นระหว่างทางเดินคนและถนน แบ่งช่องทางระหว่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

...

ส่วนปี 2560 จะขยายพื้นที่ศึกษาไปยังเขตรอบนอก ซึ่งรถใช้ความเร็วและเกิดอุบัติเหตุสูง จำนวน 6 เขต ได้แก่ เขตลาดกระบัง เขตบางขุนเทียน เขตหนองจอก ตลิ่งชัน เขตมีนบุรี เขตประเวศ และทางหลวงหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.นี้

นายเกริกฤทธิ์ ศรีรุ่งวิกรัย นักวิจัยความปลอดภัยทางถนน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การลดอัตราความเร็วในเขตพื้นที่เมืองหลวงมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ และได้เสนอให้ภาครัฐทดลองกำหนดอัตราความเร็วรถตามพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งในเขตพื้นที่ชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่นควรจะบังคับความเร็วรถที่ 50 กม./ชม. พื้นที่มีความเสี่ยงประชากรหนาแน่นกำหนดความเร็วที่ 30 กม./ชม. บริเวณเส้นทางหลักที่ไม่มีเกาะกลางถนนควรกำหนดความเร็วที่ 70 กม./ชม. หากดำเนินการได้จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น เพราะจะช่วยลดแรงกระแทกและความเสียหายขณะเกิดอุบติเหตุได้เป็นอย่างดี.