หลังจากมีประเด็นการซ่อมหรือการลงโทษด้วยท่าหัวปักพื้น หัวทิ่มดิน หัวตั้งสู้ หรือท่าปักฉมวก ที่เอามือไพล่หลังและเอาหัวทิ่มพื้นเป็นหนึ่งในการฝึกที่มีมานาน ทำให้หลายคนสงสัยว่า นี่อาจเป็นเหตุที่ทำให้นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิต...

ทำไมทหารต้องโดน "ซ่อม"​?

พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงการ “ซ่อม” ว่า ทุกสถานบันของโรงเรียนทหารจะมีการเข้าไปปรับพื้นฐานทางด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงเรื่องระเบียบวินัย โดยระบบการซ่อม นำมาใช้เพื่อให้วินัยมีความเข้มข้นมากขึ้น เรียกได้ว่าให้ตรงเหมือนไม้บรรทัด กินข้าวช้อนกระทบกับจานเสียงดังก็นับว่าเป็นโทษแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับข้อดีของการซ่อม จะส่งผลให้นักเรียนปฏิบัติตัวอยู่ในระเบียบวินัยตลอดเวลา พยายามดำเนินชีวิตอยู่ในข้อกำหนดหรือกติกาที่ตั้งขึ้นมา ส่วนข้อเสีย ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของรุ่นพี่หรือครูฝึก ถ้าตามกฎระเบียบที่ทางกองการปกครองได้ระบุมาไม่มีปัญหาอยู่ในกรอบ แต่ก็จะมีบ้างที่วุฒิภาวะของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะมีสายบังคับบัญชาควบคุมดูแลอยู่ นอกจากรุ่นพี่คอมแมน ก็จะมีผู้บังคับกองร้อย มีหัวหน้ากองการปกครอง ผู้บังคับกองพันนักเรียน คอยควบคุมดูแลอยู่

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก "ภาคย์ โลหารชุน"
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก "ภาคย์ โลหารชุน"

...

หัวปักพื้น อันตรายแค่ไหน? หมอภาคย์ ไขข้อข้องใจดราม่าท่าซ่อมทหาร

จำเป็นไหมที่จะต้องใช้ความรุนแรงในการซ่อม? ผู้สื่อข่าวตั้งคำถาม

พ.ท.นพ.ภาคย์ ตอบว่า “จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็น สำหรับในนักเรียนที่เพิ่งเข้ามาในระบบทหารใหม่ๆ โดยต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งควรจะเน้นไปที่การเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายมากกว่า เช่น การวิดพื้น ซิทอัพ ดึงข้อ หรือการวิ่ง ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรงในห้วงแรกไม่มีความจำเป็น โดยน่าจะใช้กับพวกระบบรบพิเศษมากกว่า”

มุมทหาร-แพทย์ ท่า "หัวปักพื้น" อันตรายแค่ไหน?

ส่วนท่า “หัวปักพื้น” ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ว่ามีความอันตรายนั้น หมอภาคย์ กล่าวว่า ในมุมมองของแพทย์ทุกท่าของการออกกำลังกายมีความอันตรายถ้าเกินความพอดี ส่วนท่าดังกล่าว ถ้าคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกต้นคอ จะเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นอันตราย หรือหากผิดพลาดขึ้นมาก็อาจจะทำให้คอเคล็ดหรือเป็นอัมพาตได้ เพราะบริเวณกระดูกต้นคอมีประสาทไขสันหลังอยู่

ขณะเดียวกัน ในมุมมองทางทหารที่ได้รับการฝึกลักษณะนี้ก็สามารถทำท่านี้ได้ เป็นท่าที่ไม่ได้หนักอะไร ไม่ได้อันตรายถึงขนาดที่ว่าจะต้องยกเลิกท่านี้ เพราะท่าฝึกใดๆ ไม่ใช่เฉพาะของทหาร ก็สามารถเกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น หากปฏิบัติเกินความพอดี ซึ่งความพอดีขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน แต่ละอาชีพ แต่ละสังคมวัฒนธรรม ไม่เหมือนกัน

หัวปักพื้น อันตรายแค่ไหน? หมอภาคย์ ไขข้อข้องใจดราม่าท่าซ่อมทหาร

นอกจากนี้ ท่า “หัวปักพื้น” ยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อต้นคอ รวมทั้ง ผิวหนังบริเวณหัวหนาขึ้น เหมาะกับนักเรียนหลักสูตรรบพิเศษ เพื่อนำไปใช้ในการแบกเรือยาง ส่วนนักเรียนทั่วไปสามารถลองฝึกเพื่อให้ได้รู้ได้สัมผัสท่าทางได้ ให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ส่วนคนทั่วไปอย่างไมค์ ไทสัน นักมวยชื่อดัง ยังใช้ท่านี้เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรงด้วย โดยจะทำเป็นคอร์สๆ ไป

“ในโรงเรียนทหารก็จะมีท่าวิดพื้น วิ่ง ทั่วๆไป และอาจจะมีท่าแปลกๆ เช่น ท่าหัวตั้งสู้ แต่ว่าระยะเวลาเริ่มฝึกในห้วงแรกไม่นานจะค่อยๆ ปรับตัวกันไป โดยปกติถ้าเป็นนักเรียนท่านี้จะสั่งเพื่อให้รู้ว่าเป็นท่าหัวตั้งสู้โดยใช้เวลาไม่นาน พอเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นก็จะฝึกให้นานขึ้นๆ ตามสภาพร่างกาย แต่ถ้าเป็นนักเรียนรบพิเศษก็จะนานหน่อย อาจจะ 10 นาทีขึ้นไป เพราะว่าต้องเสริมสร้างกล้ามคอในการแบกเรือยางด้วย สำหรับตัวผมเองเคยโดนซ่อมท่านี้ตอนเรียนหลักสูตรรบพิเศษถึง 1 ชม.” หมอแกร่ง อธิบาย

...

หัวปักพื้น อันตรายแค่ไหน? หมอภาคย์ ไขข้อข้องใจดราม่าท่าซ่อมทหาร

ในบรรดาท่าของการ “ซ่อม” นั้น ท่า “หัวปักพื้น” หรือ “หัวตั้งสู้” ยากและหนักที่สุดหรือไม่? ผู้สื่อข่าวถาม

พ.ท.นพ.ภาคย์ ตอบว่า “เมื่อพูดถึงความยากไม่ได้ยาก อยู่ที่ว่าวัสดุที่เอาหัวปักเป็นพื้นชนิดไหน ถ้าเป็นพื้นหญ้า พื้นทรายก็แบบสบายๆ แต่ถ้าเป็นพื้นปูน หรือ พื้นถนน ก็จะลำบากหน่อย โดยระยะเวลาก็ไม่ควรจะนานเกินไป ซึ่งไม่มีท่าไหนโหดสุดหรือยากสุด ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความหนักหน่วงในการทำมากกว่า

ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนหรือเด็กใหม่ระยะเวลาควรจะเริ่มตั้งแต่ไม่เกิน 1 นาที เพื่อให้เขาได้รู้ลักษณะสรีระที่ปักลงไป ว่าตรงไหนสบายที่สุดหรือเหมาะกับตัวเองที่สุด หลังจากนั้น เมื่อร่างกายปรับตัวได้รู้สรีระแล้ว สามารถเพิ่มระยะเวลาได้”

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก "ภาคย์ โลหารชุน"
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก "ภาคย์ โลหารชุน"

...

พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3
พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข่าวที่เกิดขึ้นนั้น พ.ท.นพ.ภาคย์ มองว่า ไม่น่าจะใช่ท่าดังกล่าวที่เป็นต้นเหตุ หรืออาจจะทำท่านี้แต่เสริมความพลิกแพลงก็อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ แต่ว่าท่านี้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ ถ้ามีผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กที่นำโพสต์ของตนไปแชร์เรื่องมุมมองของแพทย์และทหาร โดยใช้ข้อความนำไปเชื่อมโยงประเด็นน้องเมย ซึ่งตนไม่มีเจตนากล่าวถึงสาเหตุการเสียชีวิตแต่อย่างใด

"ผมชื่นชมคนไทยที่พยายามจะช่วยเหลือให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และต้องมองย้อนกลับไปว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยขาดความเชื่อถือหรือไม่ เหตุใดต้องมีตำรวจโซเชียลเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ และไม่อยากให้คนในสังคมเสพสื่อโซเชียลมาก เพราะทำให้จิตใจร้อนรุ่ม มีแต่ความเกลียดชัง เพราะเมื่อความจริงปรากฏในประเด็นดราม่าต่างๆ ก็เงียบไปจากสังคม พร้อมทิ้งรอยแผลแห่งความแตกแยกไว้ เสพข่าวแต่พอดี ดำเนินการตามสมควร สังคมก็จะมีความสุขตามที่ควรจะเป็นครับ" หมอแกร่งที่สุดในปฐพี ทิ้งท้ายไว้น่าคิด.

...