หลังจากศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา เห็นชอบให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายไปเมื่อ2 ปีที่แล้ว ประเด็นนี้ได้กลับมาปลุกกระแส “สิทธิของเพศที่สาม” ขึ้นอีกครั้ง เมื่อล่าสุดไต้หวันกลายเป็นอีกดินแดนที่เพิ่งจะผ่านกฎหมายให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้เป็นประเทศที่ 26

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย นำมาซึ่งสิทธิต่างๆมากมายที่กฎหมายให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิ

เป็นต้นว่า สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน สิทธิในการรักษาพยาบาล เช่น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับราชการ (ไม่ได้สิทธิ หากไม่ใช่คู่สมรสตามกฎหมาย)

สิทธิการลงชื่อยินยอมให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลแก่คู่ชีวิต (ลงชื่อไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คู่สมรส บุคคลในครอบครัว หรือญาติ)

สิทธิในการรับมรดกที่ร่วมสร้างกันมา ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตกะทันหัน และไม่มีพินัยกรรมระบุตัวผู้รับพินัยกรรมไว้ (ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบัน ทรัพย์สินของผู้ตาย หรือเจ้ามรดก จะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามกฎหมายทั้งหมด)

สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้ ในกรณีมีคู่สมรส และ สิทธิการรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

...

ดร.อมรา สุนทรธาดา นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โลกมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตลอดเวลา กระแสการปรับแก้กฎหมายสมรสคนเพศเดียวกันก็เช่นกัน...กำลังได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก

โดยต่างหยิบยกเหตุผลเพื่อหาทางออกว่า ควรจะเป็นเช่นไร จึงจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้สังคมโดยรวม ยังคงอยู่ได้ภายใต้วัฒนธรรม และค่านิยมกระแสใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น

“กลุ่มที่คัดค้านได้ยกเหตุผลเรื่องศาสนา ครอบครัว การสมรส และวัฒนธรรมการสมรส ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญ ประเด็นคัดค้านอื่นๆ อย่างเช่น เด็กและเยาวชน จะสับสนกับบทบาททางเพศและความคาดหวังทางสังคม เป็นต้น”

อมราบอกว่า นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงผลการวิจัยทางจิตวิทยาว่า การใช้ชีวิตแบบเพศทางเลือกเป็นอาการเจ็บป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง รวมถึงประเด็นการขอบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ หรือความไม่พร้อมในการทำหน้าที่ผู้เลี้ยงดูบุตรบุญธรรม เป็นต้น

ขณะกลุ่มที่เห็นด้วยมองว่า ไม่ควรมีอคติกับเรื่องนี้ ควรให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล และไม่ได้เป็นการทำลายหลักศาสนา ความหมายของครอบครัวคือ การแต่งงานด้วยความรัก และมีรสนิยมที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับชีวิตคู่ การรักเพศเดียวกัน ไม่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย หรืออาการทางจิตแต่อย่างใด การขอเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก็เป็นเรื่องที่คนทั้งสองเพศสามารถทำได้

ดร.อมราบอกว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ประเทศในเอเชียกลาง และยูเรเซียส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย ยกเว้น เติร์กเมนิสถานกับ อุซเบกิสถาน ที่ต่อต้านการแสดงออกในที่สาธารณะของบุคคลเพศเดียวกัน

ส่วนกลุ่มประเทศที่เดินสายกลาง เช่น อาร์เมเนีย รัฐบาลแสดงจุดยืนบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในประเด็นเห็นต่าง ด้วยการลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ เมื่อพ.ศ.2554

ขณะที่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางไม่มีกฎหมายรับรองสถานะบุคคลเพศทางเลือก และการสมรสเพศเดียวกัน แถมบางประเทศยังมีการเอาโทษขั้นรุนแรงด้วย เช่น อิหร่าน มีกฎหมายกำหนดโทษสูงสุดด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการแพทย์ซึ่งมีเอกสารรับรอง

อมราบอกว่า เทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี เวียดนาม มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากกว่าประเทศอื่น ในภูมิภาค มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่นหลายกลุ่ม ทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเมืองศูนย์กลาง เพื่อผลักดันกฎหมายรับรองสถานะ

กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันมีอยู่ถึง 26 ประเทศ ที่ให้การรับรองในเรื่องนี้ โดยมี เนเธอร์แลนด์ ประเดิมก่อนเป็นชาติแรก เมื่อ พ.ศ.2546 หรือ 14 ปีที่แล้ว

ตามด้วย เบลเยียม แคนาดา สเปน แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน อาร์เจนตินา ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส เดนมาร์ก บราซิล อังกฤษ/เวลส์ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ลักเซมเบิร์ก สกอตแลนด์ อุรุกวัย ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และ โคลอมเบีย ตามลำดับ

...

ส่วนล่าสุดปีนี้ มีสดๆร้อนๆอีก 3 ประเทศที่เปิดไฟเขียวให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นประเทศที่ 24, 25 และ 26

คือ ไต้หวัน เยอรมนี และ มอลตา (หมายเหตุ เยอรมนีอนุญาตให้จดทะเบียนแบบ Partnership ระหว่างเพศเดียวกันแม้จะไม่ใช่การสมรสแบบสมบูรณ์ แต่ก็มีสิทธิเท่าเทียมกับการสมรสตามปกติ)

นอกจากนี้ เม็กซิโก ยังเป็นอีกประเทศที่มีกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน เพียงแต่ กระทำได้เพียงบางเมืองเท่านั้นไม่ใช่ทั่วทั้งประเทศ

ดร.อมราบอกว่า ที่น่าจับตาที่สุดคือ กรณีศึกษาของไต้หวันซึ่งถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่ศาลฎีกาตัดสินให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้

อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาของไต้หวันมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายปัจจุบันที่ห้ามการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิในความเสมอภาคของพลเมือง

ซึ่งล่าสุด รัฐสภาไต้หวันเพิ่งผ่านกฎหมายการสมรสบุคคลเพศเดียวกันไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาแก้ไขกฎหมายประมาณ 2 ปี

“ไต้หวันมีประชากรราว 23 ล้านคน เป็นประเทศที่เปิดกว้าง และปลอดภัยในระดับสูงสำหรับบุคคลเพศทางเลือก แต่เสียงคัดค้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็แรงเช่นกัน ถึงกระนั้นเรื่องนี้ไต้หวันก็นำหน้ากว่าประเทศอื่นในเอเชีย เพราะมีสังคมแบบพหุวัฒนธรรม เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น”

...

ดร.อมราทิ้งท้ายว่า

“ไต้หวันนำหน้าเป็นประเทศแรกไปแล้ว สำหรับภูมิภาคเอเชีย จากนี้คงต้องรอดูการเคลื่อนไหวในประเทศอื่นบ้าง”.