“เราใช้เวลา 3 ปี รวมกลุ่มตั้งสหกรณ์ สร้างโรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควันประสิทธิภาพสูงแห่งแรกของไทย 2 ปีถัดมา นำรายได้สะสม ระดมทุนกันอีกหน สร้างโรงงานแปรรูปยาง STR 20 เตรียมขายจีน แต่ขาดทุนหมุนเวียนเลยไปขอกู้เงินในโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ 5,000 ล้านบาท ขอกู้แค่ 25 ล้านบาท แต่รัฐไม่ช่วย อ้างเราไม่มีประสบการณ์แปรรูป ทั้งที่ทำมาตั้งแต่ปี 2553 เลยต้องขายเครื่องจักรใช้หนี้”

ไพศาล ยอดจันดา ประธานสหกรณ์กอง ทุนสวนยางภูจอง–นาจะหลวย จำกัด อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เล่าถึงที่มาของวิบากกรรม...ปี 2553 รวมกลุ่มกันซื้อยางมาขายให้พ่อค้า แต่ถูกเอาเปรียบ จึงได้ไปขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สร้างเตารมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูง ปี 2557 เริ่มผลิตขายได้เงินหลายล้าน

แต่ไม่วายพ่อค้าคนกลางบีบราคายางแผ่นให้ราคาต่ำกว่าความจริง...เลยคิดต่อยอดสร้างตำนานให้คนอีสานเห็นว่า...ชาวสวนยางนาจะหลวยจะก้าวจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมแบบเต็มตัว สร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 เพื่อส่งออกต่างประเทศ ชักชวน 13 สหกรณ์ ใน 4 จังหวัด อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-บุรีรัมย์-กาฬสินธุ์ ตั้ง “ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางภูจองนาจะหลวย” ระดมเงินทุนและกู้เงินจากสหกรณ์มาสร้างโรงงาน เสร็จเมื่อต้นปี 2558 หมดเงินไป 30 ล้านบาท เตรียมเดินหน้าผลิตยางแท่ง STR 20

...

มีออเดอร์จากกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา กับอีก 4 บริษัทผลิตยางล้อจากจีน...รอเพียงแต่ส่งยางลอตแรกไปให้ตรวจคุณภาพก่อน จีนถึงจะเซ็นสัญญา

“แต่ทุกอย่างต้องพังทลาย เงินทุนเอาไปซื้อเครื่องจักรหมด ขาดเงินหมุนเวียน เราพยายามยื่นเรื่องกู้เงินแค่ 25 ล้านบาท ยื่นเรื่องมากว่า 2 ปี ไม่ได้รับอนุมัติ ทั้งๆที่เรามีหลักทรัพย์ค้ำประกันทุกอย่าง ไม่ได้ขอแบบฟรีๆ และคณะกรรมการทุกคนพร้อมที่จะรับผิดชอบและสู้เพื่อเกษตรกร”

ประธานสหกรณ์สวนยางภูจองนาจะหลวย บอกถึงสาเหตุที่ไปที่มากู้ในโครงการของรัฐไม่ได้...เพราะติดปัญหาแค่เรื่องขอเลขรหัสส่งออกจากกองการยาง สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย

“เราทำทุกอย่างตามที่เขาสั่ง ไปขอเลขรหัสส่งออก เจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงานหลายหน สั่งให้ปรับปรุงอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำตามหมดทุกขั้นตอน หมดเงินไปเป็นล้าน แต่ก็ไม่ได้เลขรหัส เมื่อสอบถามไป ได้คำตอบว่า บุคลากรของชุมนุมสหกรณ์ยังไม่มีความชำนาญพอ จากนั้นเรื่องเงียบหายไปเลย ทั้งที่โรงงานของเอกชนในพื้นที่เดียวกัน สภาพไม่แตกต่างกัน กลับได้รหัสส่งออก ไม่รู้ผ่านฉลุยไปได้อย่างไร”

2 ปีที่ไร้เลขรหัสส่งออก ชุมนุมสหกรณ์แห่งนี้ ถูกสหกรณ์เจ้าหนี้แจ้งความทวงเงิน 11 ล้านบาท จำใจต้องขายเครื่องจักรใช้หนี้ พร้อมกับมีคำถามในใจของชาวสวนยาง หน่วยงานภาครัฐจริงใจช่วย เหลือแค่ไหน

รึต้องจ่ายเท่าไร...ถึงจะได้เลขรหัสส่งออกเหมือนเอกชน.

ไชยรัตน์ ส้มฉุน