กสท ส่งผู้จัดการฝ่ายคดี ยื่นฟ้อง กทช. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี พร้อมขอให้คุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ ศาลขอเวลาพิจารณา 3-4 วัน ก่อนตัดสินว่าจะรับฟ้องหรือไม่...

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ ให้มายื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อขอให้ศาลฯ เพิกถอนประกาศร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตระบบ 3จี เนื่องจากเห็นว่า กทช.ชุดปัจจุบันไม่มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าว ขณะที่ศาลปกครองกลางขอเวลา 3-4 วัน พิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ โดยวันนี้เป็นเพียงการรับเรื่อง แต่เชื่อว่าจะรู้ผลก่อนการประมูล 3จี ในวันที่  20 ก.ย.นี้

วันเดียวกัน นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท พร้อมด้วย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณี กทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดเงื่อนไขทำให้หน่วยงานของรัฐเสียสิทธิประโยชน์ และกีดกันการแข่งขัน

ประธานสหภาพฯ กสท กล่าวว่า การประมูล 3จี ของ กทช.ทำให้ 2 บริษัท ได้แก่ ทีโอที และ กสท ได้รับความเสียหายถึง 5 กรณี ได้แก่ 1. การประกาศเปิดประมูล 3 จีได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นขอเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตในเวลาที่น้อยเกินไป คือ ระหว่างวันที่ 1-29 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ติดระเบียบราชการ การจะลงทุนในกิจการใหม่ ต้องส่งให้กระทรวงการคลังในฐานะต้นสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมประมูลได้ 2. การกำหนดหลักเกณฑ์ของกทช. ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะมีการบังคับให้ผู้ให้บริการโครงการระบบ 2จี ต้องเปิดการเชื่อมต่อโครงข่ายให้กับผู้ใช้บริการระบบ 3จี แต่ผู้ใช้ระบบ 2จี ไม่สามารถใช้บริการข้ามเครือข่ายไประบบ 3จี

3. การประกาศหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต โดยวิธีประมูลแบบเอ็นลบหนึ่ง (N-1) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลทำการสมยอมราคา หรือ ฮั้วราคาได้ 4. การกำหนดค่าใบอนุญาตใช้งานระบบ 3จี ในอัตรา 6.5% ต่อปี แต่การจ่ายค่าสัมปทานจะจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐในอัตรา 25% และ 30%ต่อปี ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการในระบบ 2จี และ 5. กทช.ออกหลักเกณฑ์การคงหมายเลขเบอร์เดิม สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ ซึ่งจะเป็นเหตุจูงใจให้ได้รับใบอนุญาต 3จี ดำเนินการย้ายลูกค้าออกจากระบบ 2จี ไปทำการตลาดในระบบ 3จี ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม.

...