ทั้งคำ สวรรคต และคำ สวรรคาลัย ที่ใช้กับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ความหมายก็คือ เสด็จสู่สรวงสวรรค์ แต่อีกคำ หลายคนใช้มาแต่โบราณกาล เสด็จสู่นิพพาน
ฟังผิวเผิน สวรรค์กับนิพพาน อยู่ไม่ไกลกันเลย
นิพพาน มี 2 ประการ
ภาวะสิ้นกิเลส หรือหมดตัณหา หรือสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ที่ทำให้ดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไร้โทษ ไร้ทุกข์ มีแต่เกื้อกูลอำนวยประโยชน์ เป็นสุข
ซึ่งมีการตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตถผลเป็นจุดกำหนด เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน
ภาวะที่หมดความผูกพันกับขันธ์ 5 พ้นจากการปรุงแต่ง ปราศจากภพ หรือไม่มีภพใหม่สืบต่อไปอีก ซึ่งประจักษ์ภายในจำเพาะตัว มีความจบสิ้นแห่งชีวิตในโลกเป็นจุดกำหนด
เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
พูดง่ายๆ พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว แต่ยังไม่ตาย เป็นอรหันต์ประการที่ 1 พระอรหันต์ที่ตายแล้ว ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เป็นพระอรหันต์ประการที่ 2
นักปราชญ์ทั้งในและนอกศาสนา มีข้อถกเถียงกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน พระพุทธพจน์บทหนึ่ง เปรียบพระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟดับ...แต่ก็ยังไม่ใช่
“ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว อย่างนี้ จะเกิด ณ ที่ไหน?” วัจฉโคตตปริพาชกถาม “ดูก่อนวัจฉะ คำว่าจะเกิด ก็ใช้ไม่ได้” พระพุทธเจ้าตอบ
“ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่เกิด” “คำว่า ไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้” ถ้าอย่างนั้น ก็ทั้งเกิดและไม่เกิด “คำว่าทั้งเกิดและไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้”
“ถ้าอย่างนั้นจะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่” วัจฉโคตต์ย้ำ
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า “คำว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้” วัจฉโคตตปริพาชก ก็บอกว่างง และความเลื่อมใสที่เคยมีให้พระพุทธเจ้าก็หมดไป
...
“ควรแล้วที่ท่านจะงุนงง” พระพุทธองค์เปรียบเปรยต่อ “ก็ถ้าใครถามท่านว่า ไฟเบื้องหน้าท่านดับแล้ว ไปจากนี่สู่ทิศไหน”
วัจฉโคตต์บอกว่า “ไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ใดจึงลุกโพลงอยู่ได้เพราะเชื้อนั้นหมดสิ้นไป และเพราะไม่ได้เชื้ออื่นเติม ไฟนั้นก็ถึงความนับว่าหมดเชื้อดับไปเท่านั้นเอง”
“ฉันนั้น เหมือนกันแล วัจฉะ” พระพุทธองค์ตรัส “ บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ตถาคตได้ละแล้ว ถอนรากเสียแล้ว ทำเป็นประดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา
ตถาคต พ้นจากการนับว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ลึกซึ้ง ประมาณไม่ได้ หยั่งได้ยาก
เปรียบเหมือนมหาสมุทร คำว่าเกิดก็ใช้ไม่ได้ คำว่าไม่เกิดก็ใช้ไม่ได้ คำว่าทั้งเกิดและทั้งไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้ คำว่า เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้”
พระพุทธเจ้าทรงเล่าเหตุการณ์นี้ แก่ภิกษุทั้งหลาย และทรงเปล่งอุทานว่า
เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับๆหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพันชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว
ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น
คำเฉลยนิพพานแล้ว ไปไหน ตามนัยพระพุทธศาสนา ซับซ้อนและลึกซึ้ง ประมาณนี้.
กิเลน ประลองเชิง