สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ผ่านพ้นไปแล้วนะคะเมื่อวานนี้สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวง รัชกาลที่ 9 ของพวกเราชาวไทย เป็นช่วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจอย่างที่สุดที่เราคนไทยจะต้องคืนพ่อกลับสู่สรวงสวรรค์อย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ผ่านมาแม้จะรู้ว่าพระองค์สวรรคตแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนพระองค์ยังคงอยู่ แต่วันนี้พ่อของแผ่นดินได้กลับคืนสู่สวรรค์แล้วค่ะ สิ่งที่เราคนไทยยังคงทำได้คือเดินตามรอยพ่อและสานต่อสิ่งดีๆ เพื่อให้พ่อได้ภูมิใจนั่นเองค่ะ และวันนี้คุณครูลิลลี่ก็ขอสานต่อเรื่องของภาษาไทยให้พ่อได้ภูมิใจกัน

ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ขอพูดถึงการจัดริ้วขบวนต่างๆ ในงานพิธีครั้งสำคัญนี้ ซึ่งเราได้เห็นกันตั้งแต่วันซ้อม วันซ้อมใหญ่ จนถึงงานจริงที่ผ่านมาเมื่อวาน สำหรับการจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศจำนวน 6 ริ้วขบวนค่ะ เราได้เห็นกันไปแล้ว 3 ริ้วขบวนเมื่อวันวานที่ผ่านมา (26 ตุลาคม 2560) นั่นคือ ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน แล้วเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ต่อด้วยริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง ปิดท้ายพระราชพิธีเมื่อวานด้วย ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถแล้วประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ จากนั้นจึงเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน

...

สำหรับไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ คุณครูลิลลี่ขอกล่าวถึง ริ้วขบวนที่เหลืออีก 3 ริ้วขบวน นั่นคือ ริ้วขบวนที่ 4, 5 และ 6 ซึ่งตามหมายกำหนดการจะอยู่ในช่วงวันที่ 27 และ 29 ตุลาคมนี้ โดยที่ริ้วขบวนที่ 4 จะเป็นการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ต่อด้วยริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  และริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จากนั้น ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ค่ะ

สำหรับความรู้ภาษาไทยที่คุณครูลิลลี่นำมาฝากกันในครั้งนี้ คือ ความแตกต่างระหว่าง พระบรมอัฐิ กับพระบรมราชสรีรางคาร เพราะเราจะได้ยิน 2 คำนี้มาคู่กัน เรียกว่าได้ยินคำหนึ่ง ก็มักจะได้ยินอีกคำหนึ่งตามมาด้วย แล้ว 2 คำต่างกันอย่างไร หรือเหมือนกันตรงไหน เรามาดูกันนะคะ เอาเป็นว่าเราไปดูกันตั้งแต่รากศัพท์เลยดีกว่าค่ะ เปิดพจนานุกรมกันเลยก็จะพบว่า อัฐิ ออกเสียงว่า อัด-ถิ นะคะ เป็นคำนามค่ะ แปลว่า กระดูกคนที่เผาแล้ว ส่วนคำว่า สรีรางคาร เขียนว่า สรีรังคาร ก็ได้นะคะ ได้ทั้งสองแบบ ออกเสียงได้ทั้ง สะ-รี-รัง-คาน และ สะ-รี-ราง-คาน  เป็นคำนาม หมายถึง เถ้าถ่านที่ปะปนกับกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยของศพที่เผาแล้ว ดังนั้น คำว่าพระบรมอัฐิ หมายถึงกระดูกชิ้นใหญ่ ๆ ที่จะเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร หมายถึง เถ้าที่เหลือนอกจากกระดูก เรียกว่าเป็นส่วนที่เหลือหลังจากการถวายพระเพลิงนั่นเอง ส่วนนี้จะมีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามพระอารามหลวงต่าง ๆ ทราบความแตกต่างของทั้งสองคำนี้แล้วก็คงจะทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ชมริ้วขบวนที่เหลือทั้ง ริ้วขบวนที่ 4, 5 และ 6 เข้าใจอย่างถ่องแท้นะคะ สวัสดีค่ะ


instagram : kru_lilly, facebook : ครูลิลลี่