รุมท้วง ปภ.ซื้อเครื่องจับความเร็วแบบพกพา ปชป.ข้องใจใช้งบกลางไม่สมเหตุผล ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แฉดัมพ์ราคาลงจาก 9 แสน เหลือ 6.7 แสน แต่ก็ยังแพงกว่าท้องตลาดที่ราคาแค่ 1.3 แสน พท.สับแหลกผลาญงบ-ไร้ประโยชน์ ซัด งุบงิบเข้า ครม. 3 ป.ชงเองอนุมัติเองเสร็จสรรพ “วันชัย” ขวางสุดตัวไม่เชื่อ ปชป.จับมือ พท. กีดกันนายกฯคนนอก “พิศิษฐ์” ยังคาใจถูกตั้งแง่รังเกียจ “สมชัย” ชี้เลือกตั้ง พ.ย.61 อาจคลาดเคลื่อนบวกลบ 2 เดือน
กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดหาเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา โดยใช้งบกลาง จำนวน 849 เครื่อง ราคาเครื่องละ 675,000 บาท วงเงินทั้งหมด 573,075,000 บาท ปรากฏเสียงคัดค้านท้วงติงจากฝ่ายการเมืองถึงความไม่เหมาะสม
ปชป.ข้องใจใช้งบกลางผิดหลัก
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา ระบุเหตุผลเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 849 เครื่อง วงเงิน 573 ล้านบาทว่า ขอตั้งข้อสังเกตนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 เมื่อคืนวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมาก็เพิ่งพูดทางโทรทัศน์เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าต้องกำหนดกรอบการทำงานของรัฐบาลในอนาคตข้อสำคัญหนึ่งคือ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน และเพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการแย่งงบประมาณเพื่อหาผลประโยชน์จากเงินทอน แต่กรณีนี้กลับใช้งบประมาณกลางในการจัดซื้อ ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหลักงานของตัวเอง กรณีนี้จึงชัดเจนที่สุด เพราะเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา กรม ปภ.ของกระทรวงมหาดไทยซื้อไปก็ไม่ได้ใช้งานเอง แต่จ้องส่งมอบต่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อแจกจ่ายให้ตำรวจตามสถานีต่างๆ ใช้แทน อีกทั้ง ปภ. หรือกระทรวงมหาดไทยเองก็ไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัดของ สตช. แต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.มักพูดเสมอว่ารัฐบาลในอดีตบริหารประเทศใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักวินัยการเงิน การคลัง ถามว่ากรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วครั้งนี้ทำถูกต้องแล้วหรืออย่างไร เพราะใช้งบกลางในการจัดซื้อ ทั้งที่งบกลางมีไว้ใช้ในเรื่องฉุกเฉิน จำเป็น หรือช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติต่างๆ
...
แฉพิรุธดัมพ์ราคาแต่ก็ยังแพงหูฉี่
นายวิลาศกล่าวว่า อีกเรื่องที่น่าสังเกตคือ ทราบว่าเดิมตั้งใจจะซื้อถึง 1,064 เครื่อง เฉลี่ยราคาต่อเครื่องที่ 9 แสนบาท รวมต้องใช้งบประมาณ 957.6 ล้านบาท แต่พอตกเป็นข่าวในหน้าสื่อต่างๆ ว่ามีราคาแพงเกินความจำเป็น เพราะมีเครื่องตรวจจับประเภทเดียวกันที่มีราคาแค่ 1.3 แสนบาทต่อเครื่องเท่านั้น ต่อมาไม่กี่วันก็มีการลดราคาต่อเครื่องลงมาเหลือเครื่องละ 6.7 แสนบาท แค่นี้ก็ยิ่งทำให้สังคมมองว่ามีพิรุธหรือไม่ อย่างไร และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรที่ต้องเร่งซื้อขนาดนี้ ที่สำคัญการอ้างเหตุผลว่า ซื้อเพื่อสนับสนุนงานป้องกันอุบัติ-เหตุบนท้องถนนโดยให้ตำรวจนำไปใช้งาน ถามว่าทำไมจึงไม่ให้ สตช.ทำแผนงาน หลักการและเหตุผลตั้งเรื่องของบประมาณในแผนงานงบประมาณประจำปี 2561 เหตุใดจึงต้องผลักดันเป็นเรื่องจัดซื้อโดยใช้งบกลาง ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังมีหลายเรื่องที่มีความไม่ชอบมาพากล หรือมีพิรุธที่ตนกำลังจับตามอง โดยเฉพาะกรณีใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยขยะ ที่มีการร้องเรียนเข้ามามาก

พท.สับเครื่องจับความเร็วผลาญงบ
นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ตระกูล ป.เอาอีกแล้ว” การที่ ครม.อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 849 เครื่อง เป็นเงิน 573 ล้านบาทเศษ โดยใช้งบกลาง คือการใช้งบประมาณที่ผิดวินัยการเงิน การคลังและวิธีการงบประมาณ คือ 1.งบกลางคืองบประมาณที่กันไว้เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเช่น ภัยพิบัติ 2.การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วไม่ใช่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงควรตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้เงินได้ 3.หน่วยงานที่จะใช้เครื่องต้องมีอำนาจจับกุมการใช้ความเร็วเกินกำหนด ได้แก่ สตช. และกรมการขนส่งทางบก ส่วน ปภ.ไม่มีอำนาจกลับเป็นคนขอใช้งบประมาณ 4.ราคาสูงเครื่องละ 670,000 บาท เพราะตรวจวัดความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้เหตุผลว่า จะเอามาใช้ในถนนชุมชน หรือถนนสายรองที่เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอ ตำบล และ หมู่บ้าน ที่มีสถิติเสียชีวิตมาก แต่ความจริงอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น เช่น หลับใน หรือแซงในที่คับขัน ไม่ได้เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกำหนดเพราะสภาพของถนนชุมชน หรือถนนสายรอง รถวิ่งเร็วไม่ได้อยู่แล้ว
3 ป.ชงเองอนุมัติเองฉลุย
นายวัฒนาระบุด้วยว่า นอกจากจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติที่สูงเกินความจำเป็น ผลคือต้องใช้เงินจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ เป็นการผลาญงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ยังไม่นับรวมถึงความไม่สมเหตุผลของการใช้งานที่ต้องใช้คนถือ แถมแอบนำเข้า ครม.ในช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกฝ่ายลดการวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นช่วงพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งคล้ายกับการอนุมัติซื้อเรือดำน้ำที่แอบนำเข้า ครม.ช่วงที่คนกำลังเดินทางกลับจากสงกรานต์ นี่คือหนึ่งในนวัตกรรมของรัฐบาลที่เข้ามาเพื่อปราบโกง เสนอโดย พล.อ.อนุพงษ์ เห็นชอบโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และอนุมัติงบกลางโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ส่วนประชาชนเจ้าของเงินทำได้แค่นั่งดู
จี้นายกฯลงพื้นที่ถามหาความจริง
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุตั้งแต่เป็นรัฐบาลมา มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนฐานรากวงเงินสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นว่า นายกฯนำข้อมูลความเป็นอยู่ของประชาชนมาพูดโดยไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะวันนี้ประชาชน เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไม่ทราบนายกฯนำข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน อย่าฟังแต่เพียงการรายงานข้อมูล ของลูกน้อง นายกฯควรไปเดินตลาดเองโดยไม่ต้องจัดฉาก แล้วถามประชาชนว่าความเป็นอยู่เป็นอย่างไรจะได้ความจริงมา ข้อมูลเหล่านี้จะได้นำมาปรับใช้แก้ปัญหาการบริหารต่อไป แต่ถ้ายังนำข้อมูลผิดๆ มาใช้แก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่จบ

“วันชัย” ขวางสุดตัว ปชป.จับมือ พท.
นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิก สปท. กล่าวถึงข้อเสนอให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันประกาศไม่เอานายกฯคนนอกก่อนการเลือกตั้งว่า ตามหลักการรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า การโหวตเลือกนายกฯ เปิดโอกาสให้ ส.ส.สามารถรวมเสียงกันโหวตเลือกกันเองก่อนในขั้นตอนแรก ถ้าลงตัวก็จบ คนนอกไม่มีทางเข้ามา แต่ถ้าทำไม่ได้ค่อยมาถึงก๊อกที่สอง อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว จากสภาพความเป็นจริงในแนวความคิด อุดมการณ์ เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาของสองพรรค โมเดลนี้ไม่น่าเกิดได้ แม้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะออกมาสนับสนุนโมเดลดังกล่าว แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีใครเอาด้วย เดาว่าเป็นเพียงความคิดนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ เพียงคนเดียวพรรคประชาธิปัตย์เขาคงจะรอดูสถานการณ์ ไม่ยอมผูกมัดตัวเอง เพราะเขารู้ดีถ้าทำอย่างนั้น อาจจะเกิดปัญหาเดดล็อกทางการเมือง เผลอๆเหมือนฆ่าตัวตายไปเปล่าๆ ขยับไปด้านซ้ายก็ไม่ได้ ขวาก็ไม่ได้ ถ้ามาจับมือกัน ทั้งๆที่ไม่ชอบหน้ากัน เป็นการประชดกันทางการเมือง ได้แค่สะใจ แต่จริงๆไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
“พิศิษฐ์” คาใจถูกตั้งแง่รังเกียจ
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า การสรรหาผู้ว่าการ สตง.ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ให้ คตง.สรรหาผู้ว่าการ สตง.60 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง เมื่อดูรายละเอียดประกาศรับสมัครแล้ว ตนไม่ขาดคุณสมบัติจึงไปสมัคร เพราะมองว่าเคยทำงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินมานานกว่า 40 ปี ประสบการณ์ที่เรามีจะเป็นประโยชน์ในการช่วยประเทศรักษาเงินแผ่นดินได้ ไม่ได้ต้องการเกียรติยศอะไรแล้ว แต่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กลับกำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ว่าการ สตง.มาก่อนกลับมาเป็นอีกไม่ได้ เหมือนเป็นการเขียนกฎหมายจำกัดสิทธิบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ไม่เข้าใจว่าไม่ชอบอะไรตนกันนักหนา และการนับวาระดำรงตำแหน่งควรนับตามกฎหมายใหม่ การนำกฎหมายที่มีอยู่ก่อนมานับวาระด้วยอาจขัดหลักนิติธรรมและไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เราก็ต้องเคารพ
ซัด ก.ม.ลูกอลเวงไร้มาตรฐาน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายลูกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านมามีหลายมาตรฐาน ทั้งการเซ็ตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 9 คน ขาดคุณสมบัติไป 7 คน เหลือแค่ 2 คน ล่าสุดเรื่องผู้ว่าการ สตง.ที่ห้ามไม่ให้คนซึ่งเคยเป็นผู้ว่าฯมาก่อนมารับการสรรหาอีกครั้งไม่ทราบมีเจตนาอะไรหรือไม่ การที่กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันแตกต่างกันเช่นนี้ทำให้คนสับสน และหากใช้มาตรฐานนี้ในการเขียนกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เทียบเคียง สนช.ทั้ง 250 คน ที่ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบัน แสดงว่าบุคคลเหล่านี้จะกลับมาเป็น ส.ว.อีกไม่ได้ใน 2 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดข้อห้ามไว้ใช่หรือไม่
ชี้เลือกตั้ง พ.ย.61 บวกลบ 2 เดือน
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ให้การต้อนรับ กกต. แห่งราชอาณาจักรภูฏานและคณะ เข้าศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของไทยและของราชอาณาจักรภูฏาน นายสมชัยกล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ หากประกาศใช้ก็จะจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค.2561 ถึงเดือน ก.พ.2562 จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณากฎหมายลูกที่เหลืออีก 2 ฉบับ ดังนั้น กำหนดที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการประกาศการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 ถือเป็นช่วงเวลากลางๆ อาจจะบวกลบได้ 2 เดือน การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพอสมควร อาทิ การเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว มีกลไกผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เป็นกฎหมายใหม่แทน กกต.จังหวัด ทำให้แตกต่างไปจาก กกต.ประเทศอื่น ซึ่งต้องดูว่าเมื่อเปลี่ยนระบบแล้วจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

ห่วงภาคประชาชนสมัคร กกต.ยาก
นายสมชัยให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดรับสมัครบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.ชุดใหม่ว่า การที่ยังไม่มีผู้สมัครในช่วงนี้เชื่อว่าเป็นเพราะจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานจำนวนมาก คงต้องให้เวลา ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ส่วนที่กังวลคือกรณีสัดส่วนที่มาจากภาคประชาสังคม ที่ต้องการหลักฐานและเอกสารมายืนยัน เพราะรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมไม่ใช่การทำงานแบบเดียวกับข้าราชการที่มีหลักฐานเอกสาร แต่อยู่ในรูปแบบของอาสาสมัครมากกว่า ทำให้หาเอกสารรับรองยาก ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในกรรมการสรรหาที่เคยท้วงติงไปแล้วนั้น ขอไปพูดอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย.ว่า ถ้าหากยังดึงดันที่จะเดินหน้าต่อไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่แม้ว่าจะไม่สามารถสรรหา กกต.ชุดใหม่ได้ ก็จะไม่กระทบกับโรดแม็ปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ดังนั้นหาก กกต.ชุดใหม่มาไม่ทันการเลือกตั้ง กกต.ชุดนี้ก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง
ห่วงพรรคการเมืองมีเวลาน้อย
นายสมชัยยังกล่าวถึงการคาดหวังต่อ กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาว่า ต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือ เพราะในเมื่อวางสเปกเอาสูงแล้ว ก็เข้าใจว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งได้ดีตามความคาดหวังของสังคม เพราะการออกแบบให้มีคุณสมบัติสูงนั้นน่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาจัดการเลือกตั้ง ขออย่าทำให้สังคมผิดหวัง ส่วนคุณสมบัติพิเศษของคนที่จะเข้ามาเป็น กกต.ใหม่ จะต้องมีความอดทน ส่วนความคืบหน้าการร่างระเบียบ กกต.ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่นั้น คาดว่าจะเสร็จในจังหวะเดียวกันกับจังหวะที่ คสช.จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ปลดล็อกเมื่อไหร่ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เพราะถึง กกต.จะประกาศระเบียบไปในตอนนี้พรรคการเมืองก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อยู่ดี ที่น่าเป็นห่วงคือยิ่งประกาศช้าเท่าใด พรรคการเมืองก็จะยิ่งมีเวลาน้อยลงเท่านั้น โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่าจะมีปัญหามากกว่าพรรคการเมืองที่จะจดทะเบียนใหม่