สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ เผยสถานการณ์โจ๋ไทยอายุ 12-18 ปี นิยมความรุนแรง ตั้งตนเป็น "มาเฟีย" รีดไถเงิน เสพและค้ายา ขายบริการทางเพศ ขณะที่ผลวิจัยของจุฬาฯ ระบุเฉลี่ยเป็นเด็ก ป.4 ถึงม.ต้น ที่พบความรุนแรงบ่อย เดือนละ 2-3 ครั้ง...

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. สำนักงานกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2553 โดย พญ.ศิริกุล อิศรานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) กล่าวว่า จากการจัดสมัชชาครอบครัวระดับจังหวัดตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ใน 75 จังหวัด และ กทม. ได้ประมวลประเด็นสถานการณ์ครอบครัวไทยที่น่าเป็นห่วง 5 ประเด็น เพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติและเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา

โดยประเด็นน่าเป็นห่วง 5 ประเด็นประกอบด้วย 1. การส่งเสริมและพัฒนาเด็กในครอบครัวหลังหย่าร้าง 2. การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมรุนแรงของนักเรียนโดยครอบครัว 3. สวัสดิการครอบครัวที่มีเด็กพิการ 4. การเสริมศักยภาพผู้ดูแลเด็กและครอบครัวเพื่อความปลอดภัยของเด็กในชุมชน และ 5. การส่งเสริมสื่อเพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็ง


พญ.ศิริกุล กล่าวว่า ปัญหาครอบครัวหย่าร้างเหมือนมะเร็งที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปัญหานักเรียนตีกันเหมือนแผลติดเชื้อ หรือหวัด 2009 การแก้ปัญหาทั้ง 5 ประเด็น ต้องทำให้พ่อแม่มีคุณภาพ ครอบครัวเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ขณะนี้มีครอบครัวยากลำบากที่พึ่งตัวเองไม่ได้ถึงร้อยละ 20 ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ การแก้ปัญหาเด็กต้องไม่ผลักเด็กออกจากระบบ แต่ต้องทำให้เด็กเรียนรู้แยกแยะผิดถูก คนรุ่นนี้เป็นเจเนอเรชั่นแซด หรือ Gen Z เป็นวัยรุ่นใจร้อน วู่วาม ไม่มีทักษะควบคุมอารมณ์ ซึ่งพบเด็กใช้ความรุนแรงตั้งแต่ประถม ทั้งข่มขู่รีดเงินเพื่อน ซึ่งพ่อแม่ต้องใช้เวลาทุ่มเทดูแลลูกแต่ละคนอย่างน้อย 10 ปีจึงจะได้คนมีคุณภาพ


ด้าน ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เด็กที่ใช้ความรุนแรงและทำผิดกฎหมายมีอายุเฉลี่ยน้อยลง ในช่วง 12-18 ปี และจากการวิจัยเรื่อง มาเฟียเด็ก ใน กทม. ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่านักเรียนในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18 มีพฤติกรรมมาเฟีย ทั้งการทำร้ายร่างกาย รีดไถเงิน เสพและค้ายา ขายบริการทางเพศ ความรุนแรงของเด็กพบในทุกระดับ เฉลี่ยเป็นเด็ก ป.4-ม.ต้น ที่พบความ รุนแรงบ่อย เดือนละ 2-3 ครั้ง เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง โดยเด็กซึมซับความรุนแรงจากครอบครัวและสื่อการแก้ปัญหานักเรียนใช้ความ รุนแรงเป็นหน้าที่โดยตรงของครอบครัว ซึ่งหลายโรงเรียนมีเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็งพยายามแก้ปัญหา แต่บางครั้งผู้บริหารโรงเรียนไม่สนับสนุน.

...