จากกระแสรักษ์โลก และความตื่นตัวในเรื่องการประหยัดพลังงาน ทำให้โลกหันมาสนใจรถยนต์พลังงานทางเลือกกันมากขึ้น
โดยในช่วงหลัง “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ “Electric Vehicle-EV” กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่ง จากการปลุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ “เทสล่า” สายพันธุ์มะกัน
จนทำให้หลายคนฟันธงว่าต่อไปนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะครองโลก รถที่ใช้น้ำมันจะตกเวทีประวัติศาสตร์
แต่คำตอบจะเป็นจริงดังที่ฟันธงกันล่ะหรือ
เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว สนนราคารถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพใช้งานได้จริงจนมีคุณภาพไม่แพ้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันนั้น จะแพงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน!!
แถมราคาแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าก็มีราคาสูงปรี๊ด ตกลูกละแสนกว่าบาท
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีไม่มากพอ
การที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพพอๆกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันนั้นมีราคาแพงมาก เป็นเพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูง ต้องแก้จุดอ่อนในเรื่องระยะทางวิ่งต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้งให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลมากพอสมควร ทั้งยังต้องมาแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าเข้ารถที่ต้องไม่นานเกินไป
ที่สำคัญ ยังต้องแก้ปัญหาระบบความปลอดภัยและความเสถียร เพื่อให้วิ่งห้อบนท้องถนนได้ปลอดภัยในทุกสภาพถนนและทุกสภาพเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงรถติด ช่วงขึ้นที่สูงหรือสะพานสูง หรือกระทั่งเมื่อเจอน้ำท่วม
ขณะเดียวกันยังต้องมาแก้ปัญหาราคาแบตเตอรี่ให้ถูกลงมา และมีอายุการใช้งานนานกว่าเดิม ทั้งยังต้องหาทางกำจัดขยะแบตเตอรี่ที่หมดอายุ
จึงอย่าแปลกใจที่รถยนต์ไฟฟ้าของเทสล่ามีราคาแพงกว่ารถหรูอย่างเบนซ์หรือบีเอ็มดับเบิลยู
ดังนั้น รัฐบาลในหลายๆประเทศที่ต้องการส่งเสริมให้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากๆ จึงต้องหาทางจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการลดภาษีต่างๆ เพื่อให้ต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกลง
...
ขณะเดียวกัน รัฐบาลในหลายๆประเทศยังต้องควักเนื้อลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าขณะนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับผู้ที่คิดจะซื้อรถใหม่
เพราะยังมีปัญหาหลายอย่างดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทำให้หลายค่ายรถยนต์หันมาสร้างรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่าง “รถไฮบริด” รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง จากนั้นใช้การวิ่งรอบให้เกิดพลังงานไฟฟ้า และต่อมาพัฒนาเป็น “รถปลั๊กอินไฮบริด” ซึ่งเป็นรถไฮบริดที่นอกจากจะใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังสามารถชาร์จไฟฟ้าได้อีกด้วย
แต่หลายค่ายรถยนต์เองก็ยังได้ทุ่มงบก้อนใหญ่ในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับโลกอนาคต
เช่น กลุ่มอัลลายแอนซ์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของ เรโนลต์ นิสสัน และ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ประกาศ “แผนอัลลายแอนซ์ 2022” ตั้งเป้าว่าภายในปี 2022 ทั้ง 3 แบรนด์จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าถึง 12 รุ่น และรถยนต์อีก 40 รุ่นที่มีเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ
ขณะที่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศจับมือกับ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่ ลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้ง “บริษัท อีวี ซี.เอ. สปิริต จำกัด”
เพื่อร่วมกันรังสรรค์รถยนต์ไฟฟ้าหลากรุ่นหลายแบบออกสู่ตลาดภายในปี 2020
ว้าว!!!
อัลคาโปน
motorwars@thairath.co.th