กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที หลังกรมวิชาการเกษตรเปิดรับความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ เมื่อเอ็นจีโอขาประจำ ตั้งข้อกล่าวหา การแก้กฎหมายมีเนื้อหาละเมิดสิทธิเกษตรกร ขยายการผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ และเปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพรังแกเกษตรกร ได้ง่าย ต่อไปถ้ากฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ มีสิทธิได้รับโทษถึงจำคุก

เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน ลองมาฟังความคิดเห็นในมุมมองของ รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

“การแก้ไขกฎหมายไม่ได้มีการตัดสิทธิเกษตรกรที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อแต่อย่างใด เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์อะไรไปปลูกทำได้เหมือนเดิม แต่เป็นการคุ้มครองเกษตรกรไม่ให้ถูกหลอกซื้อเมล็ดพันธุ์ปลอม ไม่ได้มาตรฐาน และยังให้ชุมชนได้สิทธิประโยชน์จากการที่นักวิชาการ นัก ปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งเอกชนที่นำพืชเฉพาะถิ่นไปปรับปรุงพันธุ์อีกด้วย”

...

นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ สืบเนื่องจากกฎหมายเก่าไม่ทันสมัย ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร...จากเดิมที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ จะมีแต่หน่วยราชการเท่านั้นเป็นผู้ผลิต จึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่ด้วยปัจจุบันการผลิตเมล็ดพันธุ์ทำกันไปทั่ว มีทั้งนักวิชาการ นักปรับปรุงพันธุ์ ธุรกิจเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ...ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ไร้คุณภาพ อันเกิดจากการทำธุรกิจแบบไร้จรรยาบรรณเกิดขึ้นตามมา มีการนำเมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพมาหลอกขายชาวบ้าน

“ปัญหาหนักๆอยู่ที่เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่รู้กันอยู่ว่าเมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ให้ผลผลิตสูง เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะปลูกใหม่ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 มาปลูก จะไม่มีใครนำเมล็ดลูกผสมชั่วที่ 2 ไปปลูกต่อ เพราะให้ผลผลิตต่ำ ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะมีผู้ประกอบการบางรายเอาเมล็ดลูกผสมชั่วที่ 2 ไปหลอกขายให้เกษตรกร ผลที่ตามมา เกษตรกรเสียหาย ขาดทุน ได้ผลผลิตต่ำ กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ต้องรอหลายเดือนจนกว่าจะมีผลผลิตออกมาให้เห็นนั่นแหละ”

ดร.จวงจันทร์ บอกว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมจัดการปัญหานี้ได้ เลยต้องแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองเกษตรกรไม่ให้มีใครมาหลอกได้และในเรื่องการเอาพันธุ์พืชไปปรับปรุงพันธุ์ก็เช่นกัน...การแก้กฎ หมายครั้งนี้ ถ้ามีใครเอาพันธุ์พืชที่มีคนอื่นได้ปรับปรุงพันธุ์อยู่ก่อนแล้วไปพัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเก่า จะต้องมีการขออนุญาตและแบ่งผลประโยชน์ให้กับคนที่ทำมาก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชบ้านเราให้มีมากขึ้น

การนำพันธุ์พืชจากป่า พืชเฉพาะถิ่นที่มีสรรพคุณทางยามาปรับปรุงพันธุ์ก็เช่นกัน...ต้องมีการขออนุญาตจากชุมชนในพื้นที่นั้น รวมทั้งต้องแบ่งจ่ายผลประโยชน์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ให้กับชุมชนตามที่ได้ตกลงกันด้วยไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ได้แอบไปขโมยพันธุ์พืช ไปหาเงินเข้ากระเป๋าได้แต่ฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา.

ชาติชาย ศิริพัฒน์