ชวนคลำเต้าตัวเองทุกเดือน

พล.ต.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ผอ.ศูนย์เต้านม รพ.จุฬาภรณ์ และนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเสวนาโครงการ “BE AWARE BREAST CANCER : สานต่อสู้ภัยมะเร็ง ว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ1 ของผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 30 คนต่อผู้หญิงแสนคน แต่หากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จะพบสูงกว่าอยู่ที่ 150-200 คนต่อผู้หญิงแสนประชากร แต่ก็ต้องไม่ประมาท เพราะโรคนี้พบสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อ 15 ปีก่อนพบเพียง 15 คนต่อผู้หญิงแสนประชากร ส่วนปัจจัยของการเกิดโรคมีหลายอย่างทั้งการดำเนินชีวิต พฤติกรรม อายุ และพันธุกรรม และปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ประจำเดือนหมดช้า หมดเร็วก็มีความเสี่ยง ทั้งนี้ หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอายุมากแล้วคงไม่เป็นมะเร็งเต้านมแต่จริงๆไม่ใช่ อายุเยอะยิ่งพบได้ โดยอายุที่พบมากในต่างประเทศจะพบเฉลี่ยอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ในไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือในแถบเอเชียจะพบในอายุเฉลี่ย 45-50 ปี

พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ ศัลยแพทย์สาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและการค้นพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ดี ดังนั้นควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน และหากอายุ 40-45 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจแมมโมแกรม นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงที่ทานฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี ก็จะมีความเสี่ยงได้ แต่ก็ถือว่าน้อย โดยพบมากกว่าคนปกติ 1.1-2 เท่าตัว ส่วนการพบมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะผู้หญิงใส่ใจตัวเองมีการคัดกรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงแต่งงานแล้วมีบุตรและให้นมบุตร จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้หญิงโสด หรือผู้หญิงแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร เนื่องจากการให้นมบุตรช่วยลดฮอร์โมนเอสโตรเจนลงได้ ส่วนการศัลยกรรมทรวงอกยังไม่มีงานวิจัยว่าทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ เช่นเดียวกับขนาดหน้าอกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น การมีสามี เพราะคนโสดมีความเสี่ยงกว่าคนที่มีบุตร หรือการมีลูกจะลดความเสี่ยงได้ รวมไปถึงการมีประจำเดือนที่ไม่ปกติ มาเร็ว มาตั้งแต่อายุน้อย ก็เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยที่ดูแลตัวเองได้ คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย กินอาหารให้มีประโยชน์ และหมั่นตรวจเต้านม ตรวจคัดกรองก็จะช่วยได้.

...