คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ผนึก สวทช. - สนช. จัดงานการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง ตั้งเป้าเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศเวทีโลก...
คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จัดงาน การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง
นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทย ทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการนำงานวิจัย ที่ทำโดยภาครัฐและเอกชนไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันหาทางออก และวิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเงื่อนไขและมาตรการสนับสนุนที่หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชนต้องการ โดยผลสรุปจากเวทีดังกล่าวนี้ จะรวบรวมข้อเสนอแนะ และความเห็นจากการสัมมนาเสนอต่อรัฐบาล ให้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
...
“ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือ จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและความอยู่ดีกินดีของประชาชน และเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก” ปธ.คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กล่าว
นายพ้อง กล่าวต่อว่า ประเทศไทยลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมานาน แต่ผลการจัดอันดับในเวทีโลกปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยจัดอยู่เพียงอันดับที่ 46 จาก 134 ประเทศ และความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นอันดับที่ 43 จาก 55 ประเทศ และประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น จะต้องเพิ่มทั้งปัจจัยด้านการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลใน การนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตามรายงานของดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี 2551 ประเทศไทยขาดดุลการค้าสินค้าเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2539-2548 เฉลี่ย 7-8 หมื่นล้านบาท/ปี จากนั้นในปี 2550 ประเทศไทยขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี 132,689 ล้านบาท และขาดดุลค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง รายได้ของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและค่าบริการทางเทคโนโลยี ที่เกิดจากธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาจากการวิจัยและพัฒนาของเอกชนไทยนั้นยังมีสัดส่วนที่ต่ำ
นอกจากนี้ ยังร่วมอภิปราย เรื่องนโยบายส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ และ เงื่อนไขและมาตรการเชิงรุกในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจในเชิงพาณิชย์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ทั้งนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะตลอดจนมาตรการสนับสนุนที่รัฐควรจะดำเนินการที่ได้จากการสัมมนา มากำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ให้เกิดการลงทุนค้นคว้าวิจัย และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล สำหรับ ผลสรุปและข้อเสนอแนะและความเห็นในการแก้ไขปัญหา ทางออก วิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ เงื่อนไขและมาตรการสนับสนุน จากการประชุมสัมมนาดังกล่าวจะเสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ