กสอ. ลุยอี-อีมาร์เก็ตเพลส หลังตลาดภูมิภาคตอบรับเยี่ยม เชื่อเทคโนโลยีไอแพดดันขายผ่านระบบง่ายขึ้น พร้อมผลักดันผู้ซื้อรายย่อยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค สร้างจุดขายใหม่ระบบการค้าออนไลน์ได้…

นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการ ส่วนบริการสารสนเทศ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ในปี 2553 ได้เน้นยุทธศาสตร์เชิงรุกเข้าสู่การใช้ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) ผ่านระบบโมบายมากขึ้น เนื่องจากโครงการขยายไปสู่กลุ่มต่างจังหวัด จากเดิมในปีแรกกลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ระบบทั้งหมดเริ่มขยายโครงข่ายการซื้อขาย และการผลิตออกไปในรูปแบบใหม่ๆ

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมของกสอ. นอกจากทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ได้วางโครงสร้างทางด้านไอทีอย่างเต็มที่แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มที่ยังไม่สามารถลงทุนด้านไอทีเข้ามาสู่ระบบการตลาดออนไลน์ให้ได้ก่อน โดยจุดนี้จะทำให้เกิดแรงจูงใจใหม่ในการเข้ามาใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ต่อไปในอนาคต

"ผลจากที่ กสอ.เริ่มผลักโครงการ ECIT ไปยังภูมิภาค มีผลตอบรับอย่างดีมาก ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้การสนับสนุนของ กสอ. ที่มีอยู่ในปัจจุบันพร้อมจะเข้ามาใช้เทคโนโลยีใหม่ และเชื่อว่าจะทำให้ตลาดออนไลน์ของไทยเติบโตขึ้นในไม่ช้า" นายวาทีกล่าว

ด้านนายภควัต รักศรี ผู้จัดการงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ในโครงการ ECIT ยุคใหม่ปรับเปลี่ยนทิศทางของระบบอี-มาร์เก็ตเพลสภายใต้เว็บไซต์ www.ecitthai.net และ www.thaitechno.net สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิมที่เน้นการสร้าง อี-แคตตาล็อก โดยนำสินค้ามานำเสนอและเกิดการซื้อขายตามธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายการซื้อขายจะเป็นรายเล็กกับรายเล็ก แต่ระบบใหม่เปลี่ยนช่องทางใหม่ ทำให้ระบบการซื้อขายจะเป็นรายเล็กกับรายใหญ่

โดยยุทธศาสตร์ใหม่จะเป็นแบบ Pull ดึงบริษัทขนาดใหญ่ กลุ่มสมาคม หรือกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาเป็นตัวดึงยอดขาย ทำให้เกิดการซื้อขายก้อนใหญ่กระจายลงสู่ผู้ค้ารายย่อย ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบมากขึ้นจากแรงซื้อจำนวนมหาศาล และจะทำให้ระบบการซื้อขายจากเดิมที่เป็นระบบผลิตตามความชำนาญ กลายมาเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ หรือ made to order ลดจำนวนสต็อกสินค้า และลดต้นทุนการผลิตมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต และผ่านระบบโมบายในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งระบบ 2จี และ 3จี

สำหรับการรองรับทางด้านเทคโนโลยีนั้น เนื่องจากระบบอี-มาร์เก็ตเพลส ที่ผ่านมาทำงานในระบบ เว็บเบสแอพลิเคชันอยู่แล้ว จึงสามารถเข้ากับระบบโมบายได้ทั้งหมด เพียงแต่ปรับแต่งหน้าจอให้เข้ากับระบบปฏิบัติการต่างๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชันใหม่จะมีการแก้ไขข้อผิดพลาดเดิม เนื่องจากการทำธุรกิจ บี2บี และสั่งซื้อในเครื่องโมบายนั้นอาจประสบปัญหาหน้าจอที่เล็กเกินไป แต่ขณะนี้เครื่องโมบายประเภทไอแพด (i-pad) เริ่มได้รับความนิยม และแนวโน้มการออกแบบของเครื่องสมาร์ทโฟนทั่วไปก็พยายามออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นในส่วนของระบบอี-มาร์เก็ตเพลส ผ่านระบบโมบายของ ECIT จะเน้นการรองรับในจุดนี้มากขึ้น

"การที่เทคโนโลยีก้าวไปสู่ไอแพดจะทำให้กระบวนการซื้อขายด้วยระบบโมบายทำได้ง่าย และจบได้ในกระบวนการเดียว โดยทาง ECIT จะทำโปรแกรมเสริมจำนวนมากรองรับได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือน หรืออื่นๆ" นายภควัฒน์กล่าว

นอกจากนั้น ระบบ อี-มาร์เก็ตเพลส ของ ECIT จะหันมาเน้นการเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น โดยผู้ค้าที่เข้ามาในระบบจะต้องกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษา มีข้อมูลทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อให้การสนับสนุน ระบบข้อมูลบนเว็บจากเดิมเป็น content management จะกลายเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยระบบจะเพิ่มเติมลูกเล่นทางด้านแอพพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น Blog, VDO, Podcast การแชร์รูปภาพ การเชื่อมโยงกับ social network ยอดนิยมต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางจำนวนมากเกิดขึ้นในอนาคต และกลุ่มนี้จะกลายเป็นลูกค้าหลักที่มีความสนใจสินค้านั้นๆ อย่างจริงจัง

อีกจุดหนึ่งที่จะเป็นการสร้างจุดขายใหม่คือ ใน อี-มาร์เก็ตเพลส ของ ECIT จะมีการแยกกลุ่มสินค้าประเภทนวัตกรรมใหม่ และกลุ่มสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาสนับสนุนโดยเฉพาะ เพื่อเอื้อต่อผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ จนทำให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ของสินค้ายุคใหม่ในเว็บไซต์นี้ขึ้นมา

สำหรับในปี 2554 ระบบ อี-มาร์เก็ตเพลส ของโครงการ ECIT นั้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการแบ่งเป็นรายเล็กที่ร่วมจัดทำ  อี-แค็ตตาล็อก ประมาณ 1,200 ราย และเป็นรายใหญ่ที่เข้ามาซื้อสินค้าประมาณ 5,000 ราย โดยคาดว่าจะมีการซื้อขายผ่านระบบอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 100%

ขณะที่ นางยุวนิตย์ ปิสัญธนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทนารายณ์ภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทริเริ่มทำโครงการ Broker Agent กับโรงแรมและที่พักทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกที่สามารถขายสินค้าของนารายภัณฑ์ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพักในทุกจุดได้หมด โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องไปตั้งหน้าร้านอีกต่อไป อีกทั้งทำให้บริษัทสามารถเชื่อมต่อเข้ากับกลุ่มธุรกิจผ่านเครือข่ายอี-มาร์เก็ตเพลส ทั้งในส่วนของผู้ผลิต และผู้ซื้อได้ทันที โดยคาดว่าระบบ Broker Agent ผ่านระบบ ECIT อี-มาร์เก็ตเพลส จะขยายไปในโรงแรมทั่วประเทศภายในไม่กี่ปี และจะทำให้ยอดขายของนารายภัณฑ์เติบโตขึ้นอีกแน่นอน.

...