มูลนิธิไทยรัฐจัดงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี

เปิดตัวด้วยความสามารถของเด็กๆจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 82 อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา การร่ายรำแสนจะอ่อนช้อย สวยงาม นักเรียนชุดนี้เคยไปสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวเกาหลีใต้มาแล้ว และยังไปแสดงงานสำคัญๆอีกหลายต่อหลายครั้งในประเทศ

เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้บริหารโรงเรียน ในภาควิชาการ นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พูดเรื่อง สพฐ.กับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา พูดเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ

ดร.กมลบอกว่าแผนการศึกษาฉบับปัจจุบัน มุ่งให้เด็กเกิดทักษะ 3R และ 8C พร้อมอธิบายว่า 3R ได้แก่ 1.Reading (อ่านออก), 2.(W) Riting (เขียนได้) และ 3. (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)

ส่วน 8C ได้แก่ทักษะด้านต่างๆรวม 8 ทักษะ คือ 1.ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา 2.ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3.ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ 4.ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ 5.ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ 6.ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7.ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ และ 8. ความมีเมตตา กรุณา วินัย คุณธรรม และจริยธรรม

เพื่อให้เกิดทักษะเหล่านี้ “ครู” ต้องเตรียมคนออกมาสู่สังคม ดังนั้น ครูจะต้องเปลี่ยนหน้าที่จาก “ผู้สอน” มาเป็น “โค้ช”

ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้านพัฒนาคน เน้นว่า แนวทางของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทำนั้นทั้งถูกต้องแหลมคมและชัดเจน เพราะว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ไทยเราต้องปรับตัว การปรับตัวนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ 3 ด้าน ดังนี้

...

1.โลกแห่งความสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ เศรษฐกิจ และการเมือง และที่น่ากลัวที่สุดคือด้านสังคม ถ้าปรับตัวไม่ทัน ปัญหาก็จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ

2.ความย้อนแย้ง กฎเกณฑ์เก่าๆเริ่มใช้ไม่ได้ ทำให้มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา เรื่องนี้ระบบราชการกำลังเผชิญอยู่

3.การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน มนุษย์เราเริ่มจากสังคมเกษตรกรรม พัฒนามาเป็นอุตสาหกรรม และท้ายสุดมาสู่ยุคดิจิทัล

ทำให้รถที่ขับเคลื่อนได้เองกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เกิดปัญหาคือ กฎระเบียบที่สร้างไว้ไม่สามารถรองรับได้ กลายเป็นอนาคตไล่ล่าเราอยู่

และยังทำให้หลักการพัฒนาประเทศแบบเก่าเริ่มมีปัญหา

พร้อมบอกการเตรียมตัวรับโลกยุคใหม่ว่าอย่าตกใจ ให้นึกถึงสภาวะที่ยังเป็นดักแด้ก่อนที่จะเป็นผีเสื้อต้องจะอึดอัดเป็นธรรมดา ภาวะเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสชุดใหม่ ซึ่งจะมาพร้อมกับความสามารถชุดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด มีทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงาน

ขณะนี้ “เราแยกไม่ออกระหว่างเรากับเทคโนโลยี แต่เราต้องสอนเด็กในการอยู่ ในการดำรงชีวิตในโลกดิจิทัลให้ได้”

พร้อมกันนั้นก็ต้องมองเห็นสิ่งดีในสิ่งเลวร้ายให้ได้ และต้องดูให้ออกว่า มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง โลกของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ไม่ได้อยู่บนกระดาษแล้ว เรื่องข้อมูลข่าวสารนั้น สำคัญอยู่ที่ว่า เราจะคัดกรองอย่างไร นั่นหมายถึง จะรู้เท่าทันสื่อได้อย่างไรนั่นเอง

แหล่งศึกษาความรู้ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแล้ว เห็นได้จากในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป เพราะไม่มีคนเรียน

การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในบริบทใหม่ๆ บางเรื่องราวที่รู้มาจะไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เราต้องรู้จังหวะจะโคนของโลกด้วย เพราะในสมัยก่อนความรู้คืออำนาจ แต่ปัจจุบันความรู้เป็นเรื่องที่ต้องแบ่งปันกัน ยิ่งแบ่งปันเท่าไรก็เหมือนยิ่งมีอำนาจ

การเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำก็คือ 1.เปลี่ยนกระบวนความคิดที่ถูกต้อง ต้องกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเปลี่ยนแปลง 2.ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงเด็ก ให้เด็กอยู่ในโลกได้และอยู่กับตนเองได้ ผู้ทำหน้าที่นี้สำคัญก็คือ “ครู” เพราะครูสร้างคน แล้วคนเป็นผู้สร้างชาติ

อุปสรรคสำคัญอยู่ที่นิสัยคนไทยบางประการ นั่นคือ นิสัย “เสีย” ของคนไทย 8 ประการ ได้แก่ 1.ติดระบบอุปถัมภ์ เล่นเส้นเล่นสาย พวกพ้อง 2.ขี้เกียจ 3.ชอบขอ รอแต่ความช่วยเหลือ 4.ชอบเฉลิมฉลอง ชอบเที่ยวเตร่เฮฮา 5.ติดแบรนด์ ใช้ของหรูหราราคาแพง 6.ไม่รักษาเวลา ชอบอ้างเหตุผลข้างๆคูๆ

7.ทีมเวิร์กที่ไม่ดี และ 8.ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาสืบไป หากนิสัยคนไทยยัง “เสีย” เหมือนเดิม โอกาสพัฒนาย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราต้องกลับมาหาความถูกต้องก่อน นั่นคือมาที่พื้นฐานสำคัญคือ “บ้าน วัด โรงเรียน” เป้าหมายของเราคือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

1.ความมั่นคง เราจะให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนอยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างปกติสุข

2.ความมั่งคั่ง เศรษฐกิจต้องกระจายตัวออกไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลงไป

3.ยั่งยืน ต้องทำให้เศรษฐกิจไหลเวียน

ต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จะต้องสร้างคน หน้าที่ครูคือสร้างคน ต้องสร้างเด็กให้ถูกต้อง รู้หน้าที่ของตนเอง อย่างเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จก็เพราะเขาเตรียมคนมาก่อนแล้ว เป็นต้น

สำหรับแผนการศึกษาของไทยฉบับปัจจุบัน กำหนดยุทธศาสตร์การเรียนรู้ไว้ถึง 20 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2560–2579 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า มีอยู่ 3 คำ ที่ต้องทำความเข้าใจ คือ โอกาส ความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพ

“การจะทำอะไรกับการศึกษานั้น เราต้องย้อนไปในอดีต อย่างฟินแลนด์ ฟิลิปปินส์ เขาทำมาก่อน 15 ปี ถึงจะมามีการศึกษาดีอย่างปัจจุบัน” สำหรับ “ไทยรัฐผมเข้าใจว่าเดินมาถูกทางแล้ว และทำได้มีคุณภาพดีทีเดียว”

สำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เกณฑ์การประเมินโรงเรียนต่อไปจะไม่ให้ทำแต่กระดาษเท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องดูกันที่ความสามารถบริหาร และภาวะความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง

สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ การพัฒนาคุณภาพครู จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของครูอย่างจริงจังโดยนำเอาแนวพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ ดังนั้นจะต้องมีการอบรมครู ให้มีคุณธรรม จริยธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนหลักสูตรนั้น จะต้องเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนต้องเรียน ต้องการเพิ่มเติมความรู้ของผู้เรียน เพื่อการทำงาน หรือเพื่อประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง

แนวคิดนี้สอดคล้องกับ ดร.ปัญญา แก้วกียูร นักการศึกษาไทยที่บอกว่า การเรียนรู้ ถ้าเรียนในสิ่งไม่ชอบ และสิ่งที่ไม่ใช่ ผู้เรียนก็จะไม่เติบโต

การศึกษาสร้างคน ถ้าการสร้างคนล้มเหลว อนาคตของชาติย่อมประจักษ์อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร.