พบรุกมโหฬาร รื้อ 6 รีสอร์ตดัง จบใน 2 สัปดาห์
กรมป่าไม้เตรียมรื้อ 6 รีสอร์ตดังภูทับเบิกลอตสุดท้าย 2 สัปดาห์เสร็จเชื่อมือระเบิดมาจากกลุ่มนายทุนรีสอร์ต เผยนายทหารนอกราชการที่ถูกควบคุมตัวเพราะต้องสงสัยเคยมาร้องให้รื้อ 3 รีสอร์ตหลังกล่าวหากรมป่าไม้เลือกปฏิบัติ ด้านอธิบดีกรมป่าไม้แฉระเบิดภูทับเบิกเป็นการปรามไม่ให้เข้ารื้อถอนต่อที่ “เขาค้อ” หลังทหารเร่งเคลียร์พื้นที่ส่งมอบป่าสงวนฯ เขาโปลกหล่นคืนกรมป่าไม้ ขณะที่มีขบวนการบุกรุกป่าขายให้นายทุนนับหมื่นไร่
กรณีเกิดเหตุระเบิดบริเวณทางแยกปากทางเข้าภูทับเบิก หมู่ 8 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 ก.ย.ทำให้นายสวน อ่อนตา อายุ 63 ปี คนขับรถโดยสารรับจ้างรับส่งนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 1 ศพ และนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บ 2 คนนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คดีระเบิดมีความคืบหน้าไปมาก เพราะพบหลักฐานมากมายเชื่อว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดเร็วๆนี้ โดยขณะนี้พบว่ามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้าของรีสอร์ตที่ถูกรื้อถอนเพราะทำผิดกฎหมายไปแล้ว 30 แห่ง กับอีกกลุ่ม 6 รีสอร์ต กำลังจะถูกรื้อเป็นชุดสุดท้าย ถ้าไม่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาซะก่อน กรมป่าไม้จะเข้าไปรื้อถอนแล้วเพราะเป็นของกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่และนอมินีของนายทุน ประกอบด้วย ภูการ์เด้นทะเลหมอก บุกรุก 2-1-28 ไร่ ไร่ภูสายหมอก บุกรุก 0-1-88 ไร่ บ้านกลางหมอก 1-0-36 ไร่ ซิลล์แลนด์รีสอร์ต 1-0-44 ไร่ ไร่ภู-ข้าวฟาง 1-0-20 ไร่ และร้านกาแฟมอนเตอริโอ 0-0-40 ไร่ รวม 12-1-80 ไร่ นอกจากนี้ ยังมี ทับเบิกอินดี้ ที่รื้อถอนไปบางส่วน รีสอร์ตที่รื้อไปแล้ว 30 แห่งกับที่กำลังถูกรื้ออีก 6 แห่ง น่าจะเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์มากที่สุด จากรีสอร์ตที่มีทั้งหมด 41 แห่ง โดยหลังจากนี้ กรมป่าไม้เตรียมเข้ารื้อถอน 6 รีสอร์ตดังกล่าวต่อไป เชื่อว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะเสร็จสิ้นพร้อมๆกับการเร่งหาตัวมือระเบิด
...
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ส่วนรีสอร์ตอีก 4 แห่งที่ไม่มีการรื้อถอน คือ ฟ้าใสภูผาทับเบิก เนื้อที่ 1-2-64 ไร่ เดอะม้งภูทับเบิก 1-2-08 ไร่ ริมผา 1-1-52 ไร่ และไร่ริมผาภูทับเบิก 1-3-00 ไร่ ไม่น่าเกี่ยวพันกับระเบิดและถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบคุณสมบัติของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เป็นกลุ่มชาวม้งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าใช่ก็อยู่ต่อได้ แต่การทำรีสอร์ตจะต้องทำแบบโฮมสเตย์หรือบ้านพักธรรมชาติ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด
ขณะที่นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร กล่าวถึงนายทหารนอกราชการยศ “ร้อยตรี” ที่ถูกควบคุมตัวไว้แล้วนั้นว่า เคยมาร้องเรียนกับกรมป่าไม้ให้ไปดำเนินการจับกุมรีสอร์ต 3 แห่งบนภูทับเบิก ทำนองว่ากรมป่าไม้เลือกปฏิบัติ ไม่จับกุม 3 รีสอร์ตดังกล่าว กรมป่าไม้จึงเข้าตรวจสอบพบว่ากระทำผิดจริงจึงเข้ารื้อถอน ส่วนจะไปพัวพันกับการระเบิด หรือมีผลประโยชน์อย่างไร ตนไม่รู้
ขณะที่นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ก็กล่าวถึงเหตุระเบิดที่ภูทับเบิกว่า ด้านหนึ่งน่าจะเป็นการปรามหรือข่มขวัญไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทหาร ตำรวจ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่น ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มากกว่า 1 หมื่นไร่ เพราะขณะนี้ทหารกำลังเคลียร์พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่กองทัพขอใช้ประโยชน์ เพื่อส่งคืนให้กับกรมป่าไม้ ดังนั้น รีสอร์ต บ้านพักหรูที่บุกรุก ต้องถูกดำเนินคดีและกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน โดยจากการขยายผลหลังจับกุมดำเนินคดีรีสอร์ตที่ผิดกฎหมายหลายสิบแห่ง พบหลักฐานเชื่อมโยงว่าการบุกรุกป่าสงวนฯ ส่อทำเป็นขบวนการ บุกรุกป่าขายให้นายทุน โดยพื้นที่ป่าจำนวน ไม่น้อยถูกนายทุนยึดครอง นำชื่อใส่ไว้เพื่อเป็นข้ออ้างเป็นพื้นที่ทำกินที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม.ปี 2541 ทั้งที่นายทุนเหล่านี้ไม่ได้ทำกินจริงในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนการคัดกรองราษฎรชาวม้งในพื้นที่ภูทับเบิก เพื่อรับสิทธิทำกินนั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่ามีการตั้งคณะทำงานคัดกรองว่ารายใดเป็นม้งเดิมที่จะได้รับการอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่เดิม เพราะเป็นพื้นที่ผ่อนปรน ส่วนใครไม่ใช่ม้งเดิมจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานอยู่ระหว่างการคัดกรองอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกได้สำรวจราษฎรในพื้นที่เบื้องต้นพบมีทั้งหมด 778 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มี 113 ครัวเรือนที่ใช้พื้นที่โดยผิดวัตถุประสงค์ และในจำนวน 113 ครัวเรือน เป็นม้งเดิมประมาณ 50 ครัวเรือน และจะมีแผนการจัดพื้นที่หรือโซนนิ่ง ซึ่งกำหนดไว้ 5 ประเภทรองรับคือพื้นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ที่ป่าไม้ พื้นที่ราชการใช้ประโยชน์ และพื้นที่ผ่อนปรน ซึ่งในพื้นที่ผ่อนปรนจะต้องพิจารณาว่าใครสามารถอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขใด