ปลาซัคเกอร์หรือที่บางคนเรียกว่าปลาเทศบาล.
กลุ่มผู้เลี้ยงปลาตู้ ปลาสวยงามขนาดใหญ่มักประสบปัญหาการทำความสะอาดตะไคร่ รวมทั้งตะกอนในบ่อ เพื่อยืดระยะการทำความสะอาด หลายคนจึงหันไปพึ่งพาปลา "ซัคเกอร์" หรือที่บางคนเรียกว่า "ปลาเทศบาล" ซึ่งมีนิสัยเก็บกินของเน่าเสียตามพื้นน้ำมาเป็นตัวช่วย
...ปลาซัคเกอร์ หรือปลากดเกราะเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น มีนิสัยหากินซากพืช ซากสัตว์ และสัตว์น้ำขนาดเล็กต่างๆตามพื้นน้ำ มีรูปร่างค่อนข้างขนาดใหญ่ ลักษณะน่าเกลียด ส่งผลให้ที่ผ่านมามีบางคนนำมันไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และกลายเป็น
ตัวสร้างปัญหาให้กับสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย ทั้งในด้านการแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และการกินไข่ปลาพื้นเมืองของไทย รวมถึงนิสัยที่ชอบขุดโพรงถ้ำ ทำให้โครงสร้างของผนังตลิ่งพังทลาย...
ฉะนี้...อาจารย์สิทธิพัฒน์ แผ้วฉ่ำ อาจารย์
คณิสร ล้อมเมตตา และ อาจารย์สนธยา กูลกัลยา คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จึงคิดค้นวิจัยสูตรอาหารปลานิลและปลาดุกเทศ (บิ๊กอุย) โดย ใช้ปลาซัคเกอร์เป็นแหล่งโปรตีนในสูตรอาหารทดแทนปลาป่น ที่ปัจจุบันเริ่มมีราคาสูงขึ้น
อาจารย์สิทธิพัฒน์ หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า เพื่อเป็นการลดการแพร่ขยายของประชากรที่อาจมีการปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตการเพาะเลี้ยง สร้างรายได้ต่อเกษตรกรมากขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านนิเวศวิทยาจากสัตว์น้ำต่างถิ่น
ดังกล่าว ดังนั้น ทีมวิจัยจึงเริ่มทำการตรวจสอบปลาซัคเกอร์อบแห้ง พบว่ามีโปรตีน 56.4 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับระดับโปรตีนในปลาป่นที่มีอยู่ 56.74 เปอร์เซ็นต์
มาถึง ขั้นตอนเริ่มแรก จะทำการผสมอาหารโดยใช้ปลาซัคเกอร์บดแห้งทดแทนปลาป่น 0 เปอร์เซ็นต์ (0 : 100) 55 เปอร์เซ็นต์ (50 : 50) 75 เปอร์เซ็นต์ (75 : 25) และ 100 เปอร์เซ็นต์ (100 : 0) ซึ่งแต่ละสูตรผสมโปรตีนคงที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ระดับพลังงาน 29,000 cal/g จากนั้นนำไปเลี้ยงปลา โดย บ่อแรก ใช้สำหรับเลี้ยงปลานิล ขนาดน้ำหนักตัว 2.07 กรัม ความยาวเริ่มต้น 4.93 เซนติเมตร และ บ่อที่ 2 เลี้ยงปลาดุก ขนาดน้ำหนักตัว 4.79 กรัม ความยาวตัวเริ่มต้น 8.55 เซนติเมตร
โดยทั้งสองส่วนมีการวางแผน การทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (CRD) ปรับปริมาณอาหารทุกสัปดาห์ ส่วนการเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโต อัตราการเปลี่ยนอาหาร และอัตราการรอดจะจดบันทึกทุก 2 สัปดาห์ เพื่อมาวิเคราะห์ ความแตกต่าง โดยใช้ วิธีวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) ควบคู่กับการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DMRT) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์
บดแห้งเพื่อนำไปผสมอาหารเลี้ยงในบ่อทดลอง.
หลังสิ้นสุดการทดลองซึ่งใช้เวลา 12 สัปดาห์ (3 เดือน) พบว่า ในการผสมอาหารเพื่อเลี้ยงปลาทั้งสองชนิด สามารถใช้ปลาซัคเกอร์บดแห้งมาเป็นส่วนผสมในสูตรเพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนอาหารทดแทนปลาป่นได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการตายของปลาเลี้ยงทั้งสองชนิดในด้านลบ
แต่อย่างใด แต่ควรมีการผสมปลาป่น หรือเสริมกรดอะมิโนที่จำเป็นบางชนิด อาทิ ไลซิน และอาร์จีนินเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของปลาให้ดียิ่งขึ้น
การทดลองดังกล่าวจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกำจัดปลาเทศบาล ซึ่งเริ่มเป็นตัวสร้างปัญหาในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาให้เกษตรกรได้อีกด้วย.
เพ็ญพิชญา เตียว
...