โรดแม็ป คสช. มี-ไม่มีเลือกตั้ง
ยังเป็นหัวข้อทางการเมืองที่ยังไม่มีใครสามารถบอกด้วยความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดจนไปถึงว่าจะมีหรือไม่ด้วยซํ้าไป
ว่าที่จริงแล้วหากเอาเงื่อนไขวันเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือปลายปี 2561 ซึ่งมีกฎหมายลูกเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างน้อยจำนวน 4 ฉบับอันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นเป้าหมาย
เป็นกติกาที่น่าจะชัดเจนอยู่แล้วการเลือกตั้งก็ไม่น่าเป็นปัญหา
เพียงแต่ว่าใครจะคิดอย่างไรเท่านั้น รัฐบาลไม่ได้พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ยํ้าเสมอว่าดำเนินการให้เป็นไปตามโรคแม็ปหลังพระราชพิธีสำคัญ 2 เรื่องผ่านพ้นไปแล้ว
แต่ฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้งก็ตั้งประเด็นว่าควรจะกำหนดให้ชัดเจนเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะเบี้ยวคือไม่มีเลือกตั้ง
หรือทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป
จริงแล้วประเด็นมันก็อยู่ตรงนี้เท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือจากตัวแปรที่มีความจำเป็นที่มิอาจปฏิเสธได้
กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับนั้นดูเหมือนว่ามีการจัดทำไปแม้จะดูล่าช้า แต่เชื่อว่าน่าจะเสร็จทันตามเงื่อนไขเวลาอย่างน้อยตอนนี้ก็เสร็จไปแล้ว 2 ฉบับ
ล่าสุดนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อาวุโสทางการเมืองได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองว่าการเลือกตั้งจะไม่เป็นไปตามโรคแม็ปเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปจากที่ผ่านมา
หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯน่าจะเดินทางออกนอกประเทศไม่มาศาลตามนัด มันแสดงให้เห็นว่ายิ่งห่างจากการปรองดองออกไป
“รัฐบาลพูดกันตอนยึดอำนาจใหม่ปี 2557 ว่าจะเลือกตั้งปี 2560 จากนั้นก็เลื่อนมาปี 2561 วันนี้เชื่อว่าจะไม่มีเลือกตั้งตามโรดแม็ปแน่นอน เพราะกฎหมายลูกคลอดยากเหลือเกิน ทั้งที่มีโรดแม็ปกางไว้ชัดเจนแล้ว”
...
“ความจริงเรื่องการปรองดองก็พอมีหวัง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯมีข้อเสียตรงที่หงุดหงิดเกินไป พูดจากระโชกโฮกฮาก เมื่อเปรียบเทียบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯที่เป็นทหารไม่ใช่ผู้แทนนิ่มนวบก็ทำให้ประชาชนรักได้”
“อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ลดโทนลงบ้าง เพราะถ้าหัวหน้ารัฐบาลโผงผาง ตอบโต้ไปหมด การปรองดองทำยากเหลือเกิน ผมไม่ได้สอนแต่ขอพูดความจริง”
“แต่ความหวังของบ้านเมืองยังมีทางเลือกอีกทางที่ยากหน่อย คือการมีรัฐบาลต่อไปที่สวยงามโดยพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทยรวมกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่แน่ใจว่าทหารหรือพรรคการเมืองจะเอาไหม”
ที่พูดมานี้เพื่อให้เกิดความปรองดองไม่ใช่การซูเอี๋ย แต่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นศัตรูกับทหาร
“โมเดลดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไปรอด”
แนวคิดของนายพิชัยนั้นเป็นทางออกของประเทศทางหนึ่ง แต่คงเป็นเรื่องยากพรรคแต่ละพรรคต่างก็มีเงื่อนไขเป็นตัวตั้ง
“ทหาร” เองก็เช่นเดียวกัน
แต่ทุกอย่างอะไรก็เกิดขึ้นได้อยู่ที่ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอย่างไรนั่นแหละ...คงจะได้เห็นภาพทางการเมืองชัดเจนได้
อย่างไรก็ดีก่อนจะไปถึงวันเลือกตั้งให้จับตาดูหลังวันที่ 27 ก.ย.60 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะออกมาอย่างไร
นั่นแหละที่จะทำให้เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง...
“สายล่อฟ้า”