ปี 2560 ผ่านมา 8 เดือนกว่า สหรัฐฯ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ตลอดจนหลายภูมิภาคบนโลก เผชิญพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ทั้งดีเปรสชัน พายุโซนร้อน ไต้ฝุ่นกันงอมพระราม โดยเฉพาะสหรัฐฯ ปีนี้ถือว่าเจอเฮอริเคนระดับซุปเปอร์บิ๊ก รุนแรงหนักหนาสาหัสมาก

ขณะที่ ประชาชนนับล้านในรัฐเทกซัสเดือดร้อนแสนสาหัส จากเฮอริเคน ฮาร์วีย์ (Harvey) ที่ทวีความรุนแรงถึงระดับ 4 ขณะเคลื่อนตัวขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำลายสถิติในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือน ถนนหนทาง ระบบสาธารณูประโภคพังเสียหาย ทั้งในรัฐเทกซัสและลุยเซียนา คาดว่าคิดเป็นมูลค่าถึง1.8แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่มีผู้เคราะห์ร้าย เสียชีวิตจากอิทธิพลเฮอริเคน ฮาร์วีย์ กว่า 50 ราย 

ให้หลังมาเพียง 2 สัปดาห์ รัฐฟลอริดา ทางภาคใต้ ก็ต้องเผชิญหน้า กับ เฮอริเคน เออร์มา (Irma) จ่อถล่ม...ที่น่าสะพรึงกลัว คือ เฮอริเคนเออร์มา ถือเป็นเฮอริเคนสุดอันตราย มีความรุนแรงถึงระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ขณะเคลื่อนตัวพัดถล่มหลายประเทศและเกาะต่างๆ ในแถบทะเลแคริบเบียน ก่อนมีทิศทางเคลื่อนตัวไปยังรัฐฟลอริดา

นาซา เผยแพร่ภาพความรุนแรงของเฮอริเคน เออร์มา บันทึกจากสถานีอวกาศนานาชาติ
นาซา เผยแพร่ภาพความรุนแรงของเฮอริเคน เออร์มา บันทึกจากสถานีอวกาศนานาชาติ

...

*โคตรพายุ เฮอริเคน เออร์มา แรงสุดในรอบ 10 ปี

เฮอริเคน เออร์มา ถือเป็นพายุเฮอริเคนกำลังแรงสุดอันตรายมากที่สุดที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก ในรอบ 10 ปี โดยมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุถึง 182 ไมล์ต่อชม. (หรือ 295 กม./ชม.) ขณะเคลื่อนตัวพัดผ่านประเทศและหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน เมื่อคืนวันพุธที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเฮอริเคนเออร์มา ยังถือเป็นเฮอริเคนกำลังแรงสุดเป็นอันดับ 2 ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก เท่าที่มีการบันทึกกันมา ต่อจาก เฮอริเคน อัลเลน (Allen) เมื่อปี 2523 ซึ่งถือเป็นเฮอริเคนกำลังแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในแถบนี้ โดยสร้างสถิติมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุสูงถึง 190 ไมล์ต่อ ชม.

ทิศทางการเคลื่อนตัวของ ‘เออร์มา’ มุ่งหน้าสู่ตะวันตก ก่อนขึ้นเหนือเล็กน้อย
ทิศทางการเคลื่อนตัวของ ‘เออร์มา’ มุ่งหน้าสู่ตะวันตก ก่อนขึ้นเหนือเล็กน้อย

* นักวิทย์ชี้สาเหตุทำให้เฮอร์ริเคน เออร์มา แรงขนาดนี้

ปกติแล้ว เมื่อถึงช่วงฤดูเกิดเฮอริเคน หรือช่วงเกิดพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งจะเกิดบริเวณเขตร้อน อากาศค่อนข้างชื้น และลมมีลักษณะหมุนวนในมหาสมุทรแอตแลนติก ช่วงวันที่ 1 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน ของทุกปี เพียงแต่ปีนี้ ช่วงพีคของฤดูเฮอริเคน มาเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนส.ค-ต้นเดือนก.ย. จึงก่อให้เกิดพายุเฮอริเคนเออร์มาขึ้น

จากอุณหภูมิของมหาสมุทรแอตแลนติกที่อุ่นขึ้น และปรากฏการณ์วินด์ เชียร์ (Wind shear) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความเร็วลม ทิศทางลมในระยะสั้นฉับพลัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนนั้น เกิดในระดับต่ำ ทำให้พายุ เออร์มา เคลื่อนตัวตรงดิ่งมาทางตะวันตก มุ่งหน้ามายังบริเวณกระแสน้ำที่อุณหภูมิอุ่นกว่า 86 องศาฟาเรนไฮต์ จนกลายเป็นเฮอริเคนสุดอันตราย มีความรุนแรงถึงระดับ 5 และถูกบันทึกในฐานะเป็นเฮอริเคนกำลังแรงสุดที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกในรอบทศวรรษ

พายุเฮอร์มา ส่งผลให้เกิดคลื่นรุนแรง โหมกระหน่ำซัดชายฝั่งเกาะเซนต์ มาร์ติน อย่างน่ากลัว
พายุเฮอร์มา ส่งผลให้เกิดคลื่นรุนแรง โหมกระหน่ำซัดชายฝั่งเกาะเซนต์ มาร์ติน อย่างน่ากลัว

...


*เกาะท่องเที่ยวในแถบแคริบเบียน อ่วมอรทัย

- เกาะบาร์บูดา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 90,800 คน เป็นส่วนหนึ่งของประเทศแอนติกาและบาร์บูดา ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด ต้องเป็นปราการด่านแรก ที่เผชิญหน้ากับ เฮอริเคน เออร์มา เคลื่อนตัวพัดขึ้นฝั่ง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 ก.ย. จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยนายกรัฐมนตรีของแอนติกาและบาร์บูดา กล่าวว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างบนเกาะบาร์บูดา ได้รับความเสียหาย ไปจนถึงพังยับเยินระเนระนาด มากถึง 95%

- เกาะเซนต์ มาร์ติน มีประชากร 75,000 คน ต้องเผชิญความร้ายกาจของเฮอริเคน เออร์มา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย อีกทั้ง อาคารสิ่งปลูกสร้าง ได้รับความเสียหายอย่างหนักจำนวนมาก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และไฟฟ้าถูกตัดขาด

- เกาะเซนต์ บาร์ตส์ มีประชากร 9,200 คน มีผู้เคราะห์ร้าย เสียชีวิตจากอิทธิพลของเฮอริเคน เออร์มา แล้ว 2 ราย อาคารบ้านเรือนพังยับเช่นกัน

- เกาะแองกวิลา อาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในทะเลแคริบเบียน มีประชากร 13,500 คน เบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุจำนวนความเสียหายของอาคารบ้านเรือนจากโคตรพายุลูกนี้ได้

- หมู่เกาะบริติช เวอร์จินส์ ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร มีประชากร 20,600 คน เผชิญกับเฮอริเคนเออร์มา ที่เคลื่อนตัวผ่านทางตอนเหนือของหมู่เกาะ

ทำฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันที่เกาะเซนต์ มาร์ติน
ทำฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันที่เกาะเซนต์ มาร์ติน

...

*เกาะที่ยังตกอยู่ในความเสี่ยงจาก เฮอริเคน เออร์มา

- สาธารณรัฐโดมินิกัน มีประชากร 10.2 ล้านคน ซึ่งคาดว่า เฮอริเคนลูกนี้จะเคลื่อนตัวผ่านในระยะใกล้

- เฮติ มีประชากร 10.2 ล้านคน ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากหายนภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อปี 2543 โชคดีที่ไม่ได้อยู่ในทิศทางเฮอริเคน เออร์มา เคลื่อนผ่านโดยตรง แต่ก็ยังคงประกาศสถานการณ์เตรียมพร้อมรับมือพายุ

- คิวบา มีประชากร 11 ล้านคน

- บาฮามาส มีประชากร 350,000 คน เสี่ยงที่จะเผชิญกับสตอร์มเซิร์จ คลื่นสูงซัดฝั่ง ในภาคใต้-ตะวันออก ตลอดจนตอนกลาง ของเกาะบาฮามาส มีสิทธิเผชิญคลื่นสูง 6 เมตร

สภาพความเสียหายจากพายุเออร์มา
สภาพความเสียหายจากพายุเออร์มา

* สหรัฐฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐฟลอริดา

ทางการรัฐฟลอริดา เปอร์โตริโก และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เตรียมพร้อมรับมือเฮอริเคน เออร์มา ก่อนพายุจะเคลื่อนตัวมาถึง โดยมีการอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยว ออกจากหมู่เกาะฟลอริดา คีย์ส ซึ่งเป็นกลุ่มของหมู่เกาะทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา อยู่ปลายคาบสมุทรฟลอริดา ก่อนที่พายุเออร์มาจะเคลื่อนตัวมาถึง และคาดว่าจะลดระดับความรุนแรงมาอยู่ที่เฮอริเคนระดับ 4

...

* ระทึก! พายุอีกหลายลูกก่อตัวขึ้นตามหลังแล้ว

ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่า มีพายุเฮอริเคน อีกลูกหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ‘โฮเซ่’ (Jose) ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก ขึ้นแล้ว ตามหลังเฮอริเคน เออร์มา มาติดๆ ตอนนี้ เฮอริเคน โฮเซ ยังมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 1 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

นอกจากนั้น ยังมีพายุ ‘คาเทีย’ ก่อตัวขึ้นในอ่าวเม็กซิโก และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุเฮอริเคนไปเรียบร้อย นอกจากนั้น ยังมีพายุอีกหลายลูกกำลังทวีความรุนแรง ในมหาสมุทรแอตแลนติก...